หวงเฟยหง

 houngfeihong.jpg

คงปฏิเสธได้ยากว่าในยุค 90 เป็นยุคทองของภาพยนตร์จีนไม่ว่าจะกำลังภายนอก ภายในหรือชีวิตรันทน จนตัวละครหลายตัวกลายมาเป็นส่วนหนึ่งและโลดแล่นอยู่ในความทรงจำของคนที่เติบโตมาในยุคนั้น

 หวงเฟยหงเป็นผู้หนึ่งที่กลับมาปรากฏตัวในยุคนี้ ภายใต้การนำกลับมาสร้างใหม่อีกครั้งผ่านฝีมือการกำกับอย่างสุดอลังการ ณ เวลานั้นโดย ฉีเคอะที่เลือกดาราแสดงนำอย่าง หลี่เหลียนเจี๋ยหรือเจ็ทลีซึ่งยังหนุ่มแน่น แคล่วคล่องและมีพื้นฐานทางกังฟู (ทราบมาว่าเป็นศิษย์ฆราวาสวัดเส้าหลินด้วย)  มาแสดงอย่างสมบทบาทจนไม่อาจปฏิสธใบหน้าของ หวงเฟยหงในจินตนาการว่าเป็นใบหน้าเดียวกับ หลี่เหลียนเจี๋ย’  

หวงเฟยหงผู้นี้จึงครองใจผู้คนยุคนั้นไปได้ไม่ยากนัก 

ผมเป็นคนหนึ่งที่เติบโตมากับยุค 90  และหนังในยุคนั้นแบบพอจะรู้ความและสนุกกับมันได้ นาม หวงเฟยหง ปึงซีเง็ก อุ้ยเสี่ยวป้อ หรือใครอีกหลายๆคนที่ล้วนผ่านตามาไม่รู้กี่ครั้งจึงยังประทับใจในบทบาทมาถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ความรู้ที่มีพอเลาๆคือบุคคลเหล่านี้ล้วนมีตัวตนจริงในประวัติศาตร์จีน ภาพยนต์เหล่านี้จึงยิ่งสร้างความรู้สึกดีและงดงามมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ทันทีที่เว็บไซต์ผู้จัดการ ได้นำ ประวัติของ หวงเฟยหงตัวจริงมาเปิด จึงไม่รีรอที่จะขอลอกมาแปะเผยแพร่ไว้ต่อสำหรับคอภาพยนต์จีนยุค 90 ที่ Archaeo 45 แห่งนี้ 

ที่มา : นรา เรื่อง ผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่ 18 มิ.ย. 50 

ในบรรดาวีรบุรุษที่มีตัวตนอยู่จริงของจีน หวงเฟยหง (หรือ หว่องเฟห่งในสำเนียงกวางตุ้ง) น่าจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงโด่งดังแพร่หลายมากสุด พร้อม ๆ กับเป็นบุคคลที่มีข้อมูลคลุมเครือสับสน เนื่องจากได้รับการเล่าลือแต่งเติมจนพิศดารพันลึก ขณะที่หลักฐานอันแน่ชัด กลับมีอยู่ไม่มากนัก      

 หวงเฟยหงมีชื่อเดิมว่า หว่องเส็กเฉิ่ง (ไม่ทราบชื่อนี้ในสำเนียงจีนกลาง) แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ระบุว่า เกิดเมื่อวัน 9 เดือน 7 ปีที่ 25 ในรัชสมัยจักรพรรดิเต้ากวงแห่งราชวงศ์ชิง (ตรงกับปี 1847)       อย่างไรก็ตาม บางข้อมูลก็บอกเล่าผิดแผกออกไป และลงความเห็นว่า หวงเฟยหงเกิดเมื่อปีที่ 6ในรัชสมัยจักรพรรดิเซียนเฟิง (ตรงกับปี 1856) ทว่าวันและเดือนเกิดนั้นตรงกัน

หวงเฟยหงเกิดที่หมู่บ้าน หลูเจ้า ใกล้ภูเขาสีเฉียว เมืองฝอซาน มณฑลกวางตุ้ง เป็นบุตรของหวงจี้อิง (หว่องไค่อิง) ซึ่งเป็นครูมวยผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง และเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “10 พยัคฆ์กวางตุ้งอันโด่งดัง (เรื่องราวของบรรดาวีรบุรุษกลุ่มนี้ ได้รับการนำมาสร้างเป็นหนังบ่อยครั้งเช่นกัน)

แม้ว่าหวงเฟยหงจะเป็นทายาทวีรบุรุษ แต่ในขั้นเริ่มต้น หวงจี้อิงกลับไม่ยอมถ่ายทอดวิชาฝีมือให้แก่บุตรชาย (ไม่มีเหตุผลที่แน่ชัด แต่ในหนังปี 1976 เรื่อง Challenge of the Masters หรือ จอมเพชฌฆาตเจ้าสิงโตผลงานกำกับของหลิวเจียเหลียง ซึ่งถ่ายทอดชีวประวัติของหวงเฟยหงในช่วงวัยนี้ ได้ให้คำอธิบายเอาไว้ว่า พ่อของหวงเฟยหงไม่อยากให้ลูกร่ำเรียนวิทยายุทธ เนื่องจากเกรงว่าจะนำไปใช้ในทางไม่ถูกควร ทะเลาะวิวาทต่อยตีกับผู้อื่น) ทว่าเมื่อไม่อาจขัดขืนความตั้งใจมุ่งมั่นอันแรงกล้า หวงเฟยหงจึงได้รับอนุญาตให้ฝึกฝีมือกับลู่อาไค (ลกอาฉอย) ซึ่งเป็นอาจารย์ของหวงจี้อิง (แปลง่าย ๆ ก็คือ สองพ่อลูกตระกูลหวง มีอาจารย์คนเดียวกัน)

เหตุการณ์ช่วงนี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของวิชาฝีมือในแขนงที่เรียกกันว่า หงฉวน” (หงก่า) ซึ่งคิดค้นบัญญัติขึ้นโดยวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่หงซีกวน มีกระบวนท่าอันเลื่องชื่อคือ หมัดพยัคฆ์-กระเรียน       ลู่อาไคเป็นเพื่อนศิษย์ร่วมสำนักเส้าหลินฝ่ายใต้ร่วมกับหงซีกวน และสืบทอดรับช่วงวิชาฝีมือดังกล่าว กระทั่งส่งผ่านมาถึงหวงเฟยหง       กล่าวกันว่า เมื่อถึงรุ่นของหวงเฟยหง วิชาฝีมือเหล่านี้ได้รับการพัฒนาจนกระทั่งสมบูรณ์ลงตัว และเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ขยาย กระทั่ง หงฉวนได้รับความนิยมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากกราบกรานลู่อาไคเป็นอาจารย์แล้ว ในวัยเยาว์หวงเฟยหงยังได้ร่ำเรียนวิชา หงฉวนเพิ่มเติมจากหล่ำฟกซิง (ไม่ทราบชื่อจีนกลาง) จากนั้นก็ได้รับการสั่งสอนเพิ่มเติมจากหวงจี้อิงผู้เป็นบิดา       ในวัยเด็กครอบครัวของหวงเฟยหงมีฐานะยากจน ต้องตระเวนรอนแรมไปเปิดทำการแสดงวิชาฝีมือและขายยาตามท้องถนน       โดยสรุปแล้ว ช่วงวัยเยาว์และวัยหนุ่มของหวงเฟยหง เป็นระยะเวลาของการฝึกฝนวิชาฝีมือต่อสู้ป้องกันตัว และการรับมรดกสืบทอดวิชาแพทย์จากบิดา ซึ่งเป็นหมอแผนโบราณที่ได้รับการยกย่องนับถือ

กระนั้นก็มีวีรกรรม 2 เหตุการณ์ ซึ่งได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง       เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นเมื่อหวงเฟยหงมีอายุ 16 ปี ชาวตะวันตกกลุ่มหนึ่งคิดค้นกิจกรรมสร้างความบันเทิง โดยฝึกฝนหมาพันธุ์เยอรมันเชพเพิร์ดจนมีสภาพดุร้ายกระหายเลือด จากนั้นก็เปิดเวทีท้าประลองให้ชาวจีนสู้กับหมา ผู้ชนะจะได้รับเงินรางวัลมูลค่าสูง แต่หากพลาดพลั้งบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ก็ถือเป็นคราวเคราะห์ที่ไม่มีผู้ใดรับผิดชอบ       ความบันเทิง คนสู้หมากลายเป็นเรื่องเกรียวกราวไปทั่ว ผู้คนจำนวนมากที่เข้าประลองล้วนแล้วแต่พ่ายแพ้ บ้างโชคดีก็แค่บาดเจ็บ แต่มีจำนวนไม่น้อยนำเอาชีวิตเข้าสังเวยและตายไปอย่างสูญเปล่าไร้ค่า

 หวงเฟยหงล่วงรู้เรื่องดังกล่าว จึงเข้าประลองเพื่อกอบกู้ศักดิ์ศรีให้แก่เพื่อนร่วมชาติ และเป็นฝ่ายชนะอย่างง่ายดาย ด้วยกระบวนท่า เท้าไร้เงาซึ่งเป็นไม้ตายประจำตัวที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากสุดของเขา (เหตุการณ์ครั้งนี้ ได้รับการนำมาสร้างเป็นหนังเรื่อง How Huang Feihong Vanquished the Terrible Hound at Shamian เมื่อปี 1956)       เหตุการณ์ถัดมาคือ เมื่อครั้งที่ท่าเรือฮ่องกงเพิ่งเปิดทำการ หวงเฟยหงในวัย 21 ปี ไม่อาจทนเห็นผู้อ่อนแอโดนนักเลงท้องถิ่นจำนวนมากรุมรังแก จึงยื่นมือเข้าขัดขวาง ด้วยการใช้กระบองไม้ไผ่เป็นอาวุธบุกเดี่ยวเข้าสู้กับฝ่ายตรงข้ามจำนวนหลายสิบคน กลายเป็นศึกตะลุมบอนอันสะท้านสะเทือน (บริเวณที่เกิดเหตุดังกล่าว ปัจจุบันคือสวนสาธารณะที่ถนนฮอลลีวูด ฝั่งเกาะฮ่องกง)

ผลการต่อสู้ หวงเฟยหงสามารถหลบหนีไปได้ และทำร้ายบรรดานักเลงอันธพาลบาดเจ็บไปหลายคน แต่การปะทะครั้งนั้น ก็ส่งผลให้หวงเฟยหงไม่อาจพำนักอยู่ในฮ่องกงได้อีกต่อไป และต้องเดินทางกลับไปยังกวางเจา       ช่วงชีวิตของหวงเฟยหง ซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากสุด โดยผ่านการบอกเล่าของหนังมากมายหลายสิบเรื่อง คือ ช่วงวัยอายุประมาณ 30 ปี หวงเฟยหงกลายเป็นครูมวยผู้มีชื่อเสียง พร้อม ๆ กันนั้นเขาก็ได้เปิดร้านขายยา (จริง ๆ แล้วน่าจะเป็นประมาณคลีนิค เนื่องจากรับรักษาบำบัดผู้ป่วยด้วย) ชื่อ เป่าจือหลิน” (โปจี๋หลำ)

เป่าจือหลินกลายเป็นร้านขายยาที่โด่งดังเป็นตำนานเช่นเดียวกับหวงเฟยหง (บริเวณที่ตั้งของเป่าจือหลิน สันนิษฐานว่าอยู่ที่ตรอกหยั่นออน ถนนสายที่ 13 เขตกวางเจาตะวันตกในปัจจุบัน) ด้วยเหตุที่ให้การรักษาผู้เจ็บป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสำหรับผู้ยากไร้ บ่อยครั้งยังเป็นการเยียวยาพยาบาลโดยไม่คิดเงิน       วิชาแพทย์ของหวงเฟยหง ได้รับการยกย่องไม่น้อยหน้าวิชาฝีมือ ไม่ว่าจะเป็นการต่อกระดูก ตำรับยาเฉพาะประจำตระกูล หรือการรักษาโดยวิธีฝังเข็ม

ในปี 1888 นายพลหลิวหยงฟู่ (เหลาหวิงฟก) ผู้บัญชาการกองธงดำประสบอุบัติเหตุขาหัก และได้รับการรักษาโดยหวงเฟยหงจนกระทั่งหายดี นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างทั้งสอง หลิวหยงฟู่ชักชวนหวงเฟยหงให้เป็นหมอประจำกองทัพ และต่อมาทั้งคู่ก็ได้เข้าร่วมสู้รบกับกองทัพญี่ปุ่นที่รุกรานไต้หวัน

ภายในตัวคนคนเดียวหวงเฟยหง เป็นที่ยกย่องทั้งในด้านจอมยุทธผู้ผดุงคุณธรรม (ว่ากันว่า ส่วนใหญ่เป็นการช่วยเหลือผู้อ่อนแอที่โดนรังแกโดยไม่เป็นธรรม) เป็นครูมวยผู้ได้รับความเคารพนับถือ เป็นหมอผู้มีใจโออบอ้อมเมตตา เป็นนักเชิดสิงโตผู้มีชื่อเสียง และเป็นผู้รักชาติที่มีอุดมการณ์สูงส่ง

หวงเฟยหงผ่านการแต่งงานทั้งหมด 4 ครั้ง มีลูกทั้งหมด 10 คน ภรรยาสามคนแรกล้วนเสียชีวิตตั้งแต่อายุยังน้อย ส่งผลให้เขานึกโทษตนเองว่าเป็นต้นเหตุแห่งเคราะห์ร้ายแก่คนที่ตนรัก และตัดสินใจว่าจะไม่ยอมแต่งงานอีก แต่แล้วในปี 1903 เขาได้พบกับหญิงสาววัย 16 ปีชื่อ มอกไกวหลาน” (ไม่ทราบชื่อจีนกลาง) และตกหลุมรักซึ่งกันและกัน จนนำไปสู่การแต่งงาน

มีเรื่องเล่า (ที่ไม่ยืนยันว่าเป็นความจริง) ขณะที่หวงเฟยหงกำลังเชิดสิงโต เขาสะบัดขาแรงเกิน จนรองเท้าปลิวกระเด็นไปโดนมอกไกวหลานในหมู่ผู้ชม ด้วยความรู้สึกผิด ต่อมาหวงเฟยหงจึงพยายามค้นหาตัวหญิงสาวเพื่อกล่าวคำขอขมา นั่นคือจุดเริ่มต้นแห่งการพบกับความรักครั้งสุดท้ายของปรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่

เดือนมีนาคมปี 1924 (บางข้อมูลระบุว่าเป็นวันที่ 15 ตุลาคม 1924) เกิดเหตุจราจลในย่านการค้าของกวางเจา ห้างร้านจำนวนมากถูกทำลายเสียหายยับเยิน รวมทั้งเป่าจือหลินของหวงเฟยหงที่ถูกเผาจนราบคาบ       ถัดจากนั้นไม่นาน หว่องฮอนซัม (ไม่ทราบชื่อจีนกลาง) ลูกชายคนโตของหวงเฟยหงก็เสียชีวิตจากการทะเลาะวิวาทกับแก๊งค้ายาเสพติด (ข้อมูลบางแหล่งแย้งต่างกันมาก แต่น่าจะถูกต้องกว่า ก็คือ เหตุดังกล่าวเกิดในปี 1890) การสูญเสียบุตรชาย ทำให้หวงเฟยหงประกาศไม่ถ่ายทอดวิชาฝีมือให้แก่ลูกหลาน และจะสอนเฉพาะบรรดาลูกศิษย์เท่านั้น

หวงเฟยหงเสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 เดือน 3 ปี 1924 (บางข้อมูลระบุว่า 25 มีนาคม ซึ่งไม่น่าจะใช่เพราะเป็นการนับตามปฏิทินจันทรคติ) หลังจากนั้นมอกไกวหลานพร้อมด้วยลูกศิษย์ 2 คนของหวงเฟยหง คือ หลินจี้หรง (หลำไซหวิ่ง) และตั่งเซาขิ่ง (ไม่ทราบชื่อจีนกลาง) ก็พากันอพยพโยกย้ายไปยังฮ่องกง

ตลอดชีวิตหวงเฟยหงมีลูกศิษย์ทั้งหมด 18 คน (ตั่งเซาขิ่งเป็นคนเดียวที่เป็นผู้หญิง) ว่ากันว่าคนที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาในทุก ๆ ด้าน (ทั้งวิชาบู๊ วิชาแพทย์ และการเชิดสิงโต) คือ เหลิงฟุน (ไม่ทราบชื่อจีนกลาง) แต่โชคร้ายที่ศิษย์เอกรายนี้ เสียชีวิตตั้งแต่อายุประมาณ 20 กว่า

ในบรรดาศิษย์ทั้งหมดของหวงเฟยหง คนที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากสุดคือ หลินจี้หรง ซึ่งต่อมาได้เปิดสำนัก และเขียนตำราหมัดมวยที่สำคัญเอาไว้หลายต่อหลายเล่ม รวมทั้งเป็นผู้มีบทบาทในการถ่ายทอดเผยแพร่วีรกรรมของอาจารย์

หลังจากหวงเฟยหงเสียชีวิต เรื่องราวของเขาก็ได้รับการนำมาเขียนเป็นนิยาย ตีพิมพ์ตามหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับ และเป็นที่นิยมในวงกว้าง มีการแต่งเติมสีสันเพิ่มจินตนาการต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งเรื่องราวของหวงเฟยหงกลายเป็นตำนานพิศดาร  

จนกระทั่งถึงปี 1949 เรื่องราวเกี่ยวกับหวงเฟยหงก็ได้รับการนำมาสร้างหนังเป็นครั้งแรก โดยมีกวานตั๊กฮิง (ไม่ทราบชื่อจีนกลาง) ผูกขาดรับบทเป็นหวงเฟยหงถึง 77 เรื่อง (กินเนสส์บุ๊คบันทึกไว้ว่า เขาเป็นนักแสดงที่รับบทเป็นตัวละครเดิมมากที่สุดในโลก) ถึงขั้นว่าในชีวิตจริง ยังมีผู้คนจำนวนมากยินดีเรียกขานกวานตั๊กฮิงว่า อาจารย์หวง

เรื่องน่าแปลกอย่างหนึ่งคือ ขณะที่วีรกรรมของหวงเฟยหงเป็นที่เล่าขานกันอย่างมากมายไม่รู้จบ ทั้งในหนังและนิยาย ทั้งส่วนที่เป็นความจริงและส่วนที่เป็นเรื่องแต่ง มีนักแสดงจำนวนมากสวมบทบาทเป็นบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ แต่ภาพถ่ายหวงเฟยหงตัวจริง ตลอดทั้งชีวิตกลับค้นพบเพียงแค่ภาพเดียว

ขุดความรู้ในหลุมกับ รศ.สุรพล นาถะพินธุ

อีกหนึ่งบทสัมภาษณ์ดีๆจาก ยุวดี มณีกุล แห่งกรุงเทพธุรกิจ ในโอกาสที่ รศ.สุรพล นาถะพินธุ หรืออาจารย์น้อย(ดำ) ของบรรดานักศึกษาโบราณคดี ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ และบางเสี้ยวหนึ่งของชีวิตอาจารย์น้อย ผู้เป็นเสมือนหลักศิลาค้ำยันวงวิชาการโบราณคดีไทยที่ผ่านบทสนทนาสั้นๆนี้อาจสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้คนโบราณคดีหนุ่มสาวได้เดินตามรอยไปอย่างมั่นคง 

12 มิถุนายน พ.ศ. 2550  

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นานทีปีหนจะปรากฏชื่อบุคคลในแวดวงโบราณคดีที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า และปีนี้ชื่อของรองศาสตราจารย์สุรพล นาถะพินธุ ก็ผุดขึ้นเป็นคนหนึ่งในชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ คนในแวดวงวิชาการและวิชาชีพโบราณคดีย่อมเคยได้ยินกิตติศัพท์ของ รองศาสตราจารย์สุรพล นาถะพินธุ คณบดีคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาบ้าง ไม่ใช่ในฐานะที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปีนี้  แต่ในฐานะนักวิชาการที่มีความกระตือรือร้นและขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ ตำแหน่งผู้บริหารคณะไม่ได้ทำให้คุณสมบัติข้อนี้ลดน้อยถอยลง ตรงกันข้ามคนในรั้วศิลปากรยังคุ้นภาพที่คณบดีวัย 52 ปี นำนักศึกษาออกสำรวจและขุดค้นแหล่งโบราณคดีในช่วงปิดภาคการศึกษา โดยเฉพาะแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณโลหะวิทยาในประเทศไทยที่วงวิชาการระดับนานาชาติยอมรับ ทั้งเป็นผู้พยายามผลักดันร่างมาตรฐานจรรยาบรรณวิชาชีพสำหรับนักโบราณคดีเมื่อหลายปีก่อน 

000 

อาจารย์ช่วยเล่าพื้นฐานวัยเด็กให้ฟังสักนิดสิคะ?

เป็นคนกรุงเทพฯ ครับ บ้านอยู่แถวๆ วัดพระยาไกร เกือบถึงถนนตกน่ะ ที่บ้านเป็นครอบครัวใหญ่มาก มีสมาชิกเกือบ 30 คน มีย่าเป็นผู้อาวุโสที่สุด พ่อแม่ส่งเข้าเรียนโรงเรียนแถวๆ บ้านจนจบชั้นประถม แล้วมาสอบเข้าชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดสุทธิวราราม เรียนศิลป์-ฝรั่งเศสจนจบ มศ.5 

เป็นคนเรียนดีมาแต่ไหนแต่ไรเลยเหรอคะ

ปานกลางมากกว่านะ คือผมเรียนบ้างเล่นบ้าง ส่วนใหญ่ชอบเล่นกีฬา ชอบเล่นฟุตบอล ชอบวิชาภาษาไทย จะได้คะแนนดีวิชานี้ วิชาอื่นๆ ก็ใช้ได้ (ยิ้ม) ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัยพ่อแม่ให้เราเลือกเรียนเอง ที่อยากเรียนมากที่สุดตอนนั้นคือรัฐศาสตร์ ที่บ้านทำงานอำเภอกันหลายคน เขาบอกว่าอยากทำงานอำเภอต้องเรียนรัฐศาสตร์ สมัยนั้นคณะนี้ฮิตด้วยมั้ง ผมเลือกรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์อันดับหนึ่ง รัฐศาสตร์ เชียงใหม่อันดับสอง แล้วก็ไม่รู้จะเลือกอะไรต่อ ได้ยินเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าอยากเรียนโบราณคดีเลยเลือกเป็นอันดับสามตามเพื่อน อีกคนบอกจะเลือกครุศาสตร์ พลศึกษา จุฬาฯ ก็เลือกตามเพื่อนอีกเป็นอันดับสี่ ที่จริงเลือกได้ 6 อันดับ ผมเลือกแค่ 4 พอสอบไปได้ 3 วัน วันที่ 4 ต้องไปสอบวิชาเฉพาะของพละ แต่ผมไม่ไปแล้ว ตามเพื่อนไปแพร่แทน กะว่าจะไปสมัครเรียนป่าไม้แพร่ สุดท้ายก็ไม่ได้สมัคร ไปเที่ยวอย่างเดียว (ยิ้มกว้าง)

 สอบติดคณะโบราณคดี ชีวิตเป็นยังไงบ้าง

รู้สึกสนุกดี วิชาน่าสนใจ ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยแบบศิลปากร เออ…ก็มันดี เข้ามาถูกรุ่นพี่ซ่อมก็รู้สึกมันดี ทำตัวสนุกกับการซ่อม ตัวหลักสูตรสมัยก่อนจะเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ โบราณคดี ลงลึกเลย มีวิชานิรุกติศาสตร์ด้วย ผมชอบภาษาไทยอยู่แล้วยิ่งสนุก แล้วยิ่งมีออกภาคสนาม ผมชอบออกต่างจังหวัดอยู่แล้วไงครับ

 ทราบว่าค่าเล่าเรียนไม่แพงมาก?

ผมมาคิดทีหลังว่าโชคดีนะที่เราติดศิลปากร ถ้าไปติดมหาวิทยาลัยที่เขาคิดเป็นหน่วยกิตคงมีปัญหา คงไม่มีเงินมาเสียค่าหน่วยกิตเพราะที่บ้านจน ตอนผมเรียนเสีย 450 บาททั้งปี ที่โบราณคดีดีอย่าง เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ จะเอื้ออาทรกัน เราไม่ค่อยมีเงินกินข้าว เพื่อนๆ พี่ๆ ก็เลี้ยง อาจารย์บางท่านก็บอกว่าถ้าหิวไปกินข้าวแกงร้านประจำได้ อาจารย์บอกเขาให้เซ็นชื่ออาจารย์ไว้ หรือพอมีเงินทุนเข้ามาอาจารย์จะเสนอชื่อผมไปด้วย ท่านบอกไม่เน้นผลการเรียน ท่านบอกว่าคนจนที่ไหนมันจะเรียนดีได้ ก็ปากกัดตีนถีบน่ะ แต่ว่าถ้าผลการเรียนดีก็ยิ่งดี ทุนนี้เลยเน้นให้คนยากจนแต่อย่างน้อยความประพฤติต้องไม่เกกมะเหรกเกเร มีรุ่นพี่พาไปฝากทำงานที่โรงพิมพ์พิฆเณศกับพี่จิตต์(สุจิตต์ วงษ์เทศ) ทำในส่วนตรวจปรู๊ฟ เลิกเรียนก็ไปตรวจปรู๊ฟ ช่วงนี้ได้อ่านหนังสือดีๆ หลายเล่ม อย่างโจนาธาน ลิฟวิงสตัน นางนวล พิมพ์ครั้งแรก อ๋อ..ได้รู้จักชื่ออาจารย์ชาญวิทย์(ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ) เป็นอย่างนี้ๆ  ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กอยู่แล้วนะ อ่านได้หมด ไม่เลือกแนว คิดว่าได้ประโยชน์ ได้เห็นสำนวนภาษา ได้รู้คำศัพท์ที่ใช้ในภาษาเขียนเยอะ เวลาเราจะเขียนก็มีคำศัพท์ให้เลือกเยอะ 

มาเริ่มสนใจโบราณโลหะวิทยาตอนไหนคะ

พอปีสองเริ่มสนใจโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ คิดว่าเป็นวิชาที่ให้ข้อมูลและมีคำถามให้เราคิด ค่อนข้างอิสระ คิดได้หลากหลายแง่มุม มานุษยวิทยาก็สนใจ ขึ้นปีสามเลยตัดสินใจเลือกวิชาเอกโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ วิชาโทมานุษยวิทยา ขึ้นปีสี่ต้องทำวิทยานิพนธ์ บังเอิญ อ.ชิน (ศ.ชิน อยู่ดี) พาไปดูการขุดค้นที่บ้านดอนตาเพชร ตอนนั้นปี 2519 กรมศิลปากรเพิ่งเริ่มขุดครั้งแรก ผมเลยได้เห็นเครื่องมือเหล็กเยอะแยะ เริ่มสนใจว่า เอ๊ะ…มันทำยังไงนะ กลับมาอ่านหนังสือ ในที่สุดเสนอหัวข้อวิทยานิพนธ์เรื่องเครื่องมือเหล็กจากบ้านดอนตาเพชร ขออนุญาตกรมศิลปากรไปศึกษา แบ่งรูปแบบ ขอตัวอย่างมาวิเคราะห์ ระยะนั้นไม่มีใครทำเรื่องโลหะเลย อาจารย์ก็ไม่มี อ.ชินท่านรับเป็นที่ปรึกษาให้ ทีนี้ก็ต้องดูว่าการศึกษาเรื่องเหล็กเขาทำยังไงบ้าง วิเคราะห์ยังไง พบว่าศึกษาโดยการแบ่งรูปแบบ ซึ่งมีหลากหลายวิธี ผมมาค้นหาวิธีเอง ใช้วิธีทางเรขาคณิตมาช่วย แบ่งตามความกว้างความยาว การทำมุมของส่วนต่างๆ เพื่อแบ่งกลุ่มย่อย และวิเคราะห์โครงสร้างภายในต่างๆ อ.ชินบอกว่าใช้ได้ ท่านแนะนำว่าให้ส่งตัวอย่างไปวิเคราะห์ที่กรมทรัพยากรธรณี พอดีมีอาจารย์พิเศษที่เป็นนักธรณีวิทยาอยู่ท่านหนึ่ง เลยช่วยประสานงานให้ ส่งไปกองโลหะกรรม วิเคราะห์โครงสร้างภายใน ตั้งแต่จุดนั้นผมถึงเริ่มมีความรู้เกี่ยวกับการทำโลหะ 

วิธีการที่ทดลองตอนนั้นใช้ได้จริงในปัจจุบันมั้ย

ผมมาพบทีหลังว่าการแบ่งประเภทโบราณวัตถุในทางโบราณคดีทำได้หลายวิธี วิธีหลักๆ คือการศึกษาจากคุณลักษณะของมัน มีมากมายมหาศาล เราแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือคุณลักษณะด้านรูปทรง หมายถึงใช้การมองตามรูปทรง ตามเรขาคณิต รวมทั้งแบ่งตามขนาดกว้าง ยาว หนา สูง อะไรแบบนี้ แบบที่สองแบ่งตามการตกแต่งผิวนอก แบ่งเป็นจานสีฟ้า สีเขียว สีขาว หรือการมีลาดลายหรือไม่มีลวดลาย กลุ่มสามคือแบ่งตามเทคโนโลยี วิธีการผลิต วัสดุ เป็นต้น สรุปว่าแนวทางที่เราเคยแบ่งไม่ผิด แต่สามารถทำแบบอื่นๆ ได้อีกเยอะเลย ตั้งแต่นั้นผมรู้ว่าเราสนใจเรื่องก่อนประวัติศาสตร์หนึ่งล่ะ สองสนใจเรื่องเกี่ยวกับการทำโลหะกรรมโบราณ แค่นี้พอแล้ว ตัดสินใจได้แล้วว่าจะเป็นนักโบราณคดี ไม่ทำอาชีพอื่น (หัวเราะ)

 เข้าสู่วงการวิชาชีพเต็มตัวในที่สุด ?

ตอนใกล้จะจบ รุ่นพี่ที่ทำงานกรมศิลปากร โครงการบ้านเชียงมาชวนผมไปช่วย คือเดิม อ.พิสิฐ (ดร.พิสิฐ เจริญวงศ์) เป็นหัวหน้าโครงการ แต่ตอนนั้นท่านไปอเมริกา มีผู้รักษาการแทนคือรุ่นพี่คนนี้ จะไปขุดค้นที่ขอนแก่น ตอนนั้นพี่สด (สด แดงเอียด) เป็นลูกจ้างชั่วคราวด้วย ผมไปเลย ไปทำในตำแหน่งคนงานค่าแรงวันละ 25 บาท ยังไม่ทันรับปริญญาก็ไปเลย เป็นคนงานค่าแรง 25 บาทอยู่ 1 ปี ปีที่สองมีตำแหน่งนักโบราณคดีว่าง เลยถูกจ้างในอัตรานักโบราณคดี ค่าแรงขึ้นเป็น 80 บาท ผมว่าเงินจะมากจะน้อยก็พอใช้ทั้งนั้นแหละ สมัยนั้นอยู่รวมกันเป็นสิบคน ส่วนใหญ่รุ่นพี่เลี้ยง พอเงินเดือนออกเราก็เลี้ยงบ้าง คือเงินเดือนออกมาก็หมดแหละ แต่ไม่อด (หัวเราะ) อยู่บ้านเชียง ตระเวนสำรวจ แล้วย้ายมาขุดค้นที่บ้านโนนชัย อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ที่นี่ได้ประสบการณ์การทำงานเยอะที่สุด เพราะเราต้องคุมคนงานแทนรุ่นพี่ที่ทำงานราชการ คุมหลุมคนเดียว ทำผัง ถ่ายรูป สั่งงานขุดค้น จดบันทึกประจำวัน ทุกอย่างทั้งสี่หลุม 

ได้ยินคำร่ำลือว่าอาจารย์มีฝีมือทางการทำอาหาร?

(ยิ้ม) พอทำได้น่ะครับ ต้องทำกับข้าวกินเองตั้งแต่เด็ก ได้สูตรคุณย่ามาเยอะ โดยเฉพาะขนมจีนน้ำยา รุ่นพี่จะชมกันมาก แต่ตอนนั้นทำแผลงๆ ก็เยอะนะ บางทีไปตลาดไม่รู้จะซื้ออะไร ไปเจอเขียดตัวเท่านิ้วก้อยก็ซื้อมา ปกติคนอีสานเขาจะทำก็ทำทั้งตัว ต้มแกงทั้งตัว ไอ้เรามาค่อยๆ ทุบหัวมันทีละตัว ถลกหนังทีละตัว กว่าจะได้กินเป็นชั่วโมง อยู่ด้วยกันก็ต้องช่วยกันน่ะครับ

 มาสอบบรรจุเป็นข้าราชการตอนไหนคะ

ตอนทำงานปีที่สอง มีโอกาสสอบครั้งที่หนึ่งแต่มาสอบไม่ทันเพราะท้องเสีย ไปสอบวิชา กพ.ไม่ทัน ช้าไป 15 นาที ไม่ได้เข้าห้องสอบ ถัดมาอีกปีเขาเรียกไปสอบใหม่ก็ติดปีนั้น บังเอิญสอบได้ที่หนึ่งเขาก็ให้บรรจุหน่วยศิลปากรที่หนึ่ง คนได้ที่สองก็ไปอยู่หน่วยสอง รุ่นนั้นรับ 10 คน ผมไปประจำที่หน่วยศิลปากรที่ 1 ลพบุรี รายงานตัวเสร็จ อ.พิสิฐ ขอตัวไปช่วยโครงการบ้านเชียงต่ออีกปี ทางกองโบราณคดีทำโครงการโบราณคดีสี่ภาค โครงการโบราณคดีภาคกลางขอตัวไปช่วยอีก คืออยู่หน่วยไม่ค่อยนาน ช่วงนั้น อ.พิสิฐ หาทุนมูลนิธิฟอร์ดให้ไปเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย เรียนโบราณคดี เรียนอยู่สองปีสี่เดือน แล้วต้องทำรีเสิร์ช เปเปอร์ คล้ายๆ วิทยานิพนธ์ ผมเลยเลือกหัวข้อ พัฒนาการของสำริดในประเทศไทยโดยวิเคราะห์เครื่องสำริดของบ้านเชียงไปลงเรียนวิชาโบราณโลหะวิทยา เรียนวิชาของคณะวิศวะ เรื่องเกี่ยวกับการวิเคราะห์เซรามิค วิชาการเกี่ยวกับวัสดุศาสตร์ 

ชีวิตเมืองนอกคุ้มค่ามั้ยคะ

สนุกดีฮะ เรายังหนุ่ม อิสระ ไม่มีห่วงอะไร ใช้ชีวิตสบาย เรียนไม่มีปัญหาแต่ต้องทุ่มเทเรียนภาษาอังกฤษหนักหน่อยเพราะภาษาเรายังไม่ค่อยดี อยู่นั่นเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่ บางทีเจ้าของอพาร์ตเมนต์ก็จะจ้างเราให้ซ่อมแซมบ้าน ซ่อมหลังคาบ้าง ซ่อมบันไดบ้าง ทาสีบ้าง สารพัดล่ะครับ ผมถนัดอยู่แล้ว ไม่ได้ยากอะไร เลยพอมีรายได้เสริม 50 เหรียญบ้าง 100 เหรียญบ้าง คือเงินค่ากินอยู่ทางเจ้าของทุนให้เดือนละ 400 เหรียญ นะครับ จ่ายค่าเช่าอพาร์ตเมนต์ก็ 150 เหรียญ เหลืออีก 250 เหรียญ เราต้องจัดการชีวิตตัวเอง กินง่ายๆ ไม่แพง เดือนหนึ่งอาจกินอาหารจีนกันสักครั้ง ส่วนใหญ่กินไก่กับไข่ไงครับ ไปซื้อในตลาดมาทำกินเอง บางวันเจอขาหมูเอามาต้มเลย เพื่อนนักเรียนไทยที่โน่นยังมากินด้วย บางวันทำแกงเขียวหวานกินอาทิตย์หนึ่ง กินเสร็จใส่ตู้เย็นไว้อุ่นกินใหม่ กลางวันก็กินง่ายๆ แซนด์วิช อยู่ได้สบายๆ ได้รู้จักคนไทยที่โน่นบ้าง มีรุ่นพี่มัณฑนศิลป์แนะนำ พอเขามีงานปาร์ตี้ให้ไปช่วยจัดเวที เราก็ทำได้ เขาก็ชวนไปเรื่อย ช่วยเขียนหนังสือประชาสัมพันธ์บ้าง เพราะว่าผมลายมือพอใช้ได้ บางทีพวกเราก็แชร์เงินกันเช่ารถไปเที่ยวแคนาดา เที่ยวน้ำตกไนแองการา เรียกว่าเรียนแบบไม่เครียด มีโอกาสพักผ่อนบ้าง ได้ทั้งเรียนทั้งเที่ยว 

กลับประเทศก็มาขุดค้นต่อ?

พอหมดโครงการก็กลับมาอยู่หน่วยศิลปากรลพบุรี ตระเวนสำรวจในภาคกลางทำให้คุ้นพื้นที่แถวภาคกลาง ผมชอบคุยกับชาวบ้าน ชอบเรียนรู้ ชาวบ้านให้ความรู้ให้ภูมิปัญญาที่ไม่เคยรู้เยอะเลย งานขุดค้นก็เช่นที่บ้านท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ที่โคกระกา จังหวัดชลบุรี นอกนั้นเป็นงานสำรวจ 

เริ่มมีผลงานวิชาการตีพิมพ์ระยะนี้ใช่มั้ยคะ

ส่วนใหญ่เป็นบทความครับ มีเรื่องหนึ่งวิเคราะห์แบบแผนการกระจายตัวของแหล่งโบราณคดีในแถบจังหวัดนครสวรรค์ เสนอในการสัมมนาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น วิทยาลัยครูนครสวรรค์ ส่วนที่เขียนเป็นเล่มคือเรื่องบ้านหลุมข้าว เป็นแหล่งก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เขียนเป็นหนังสือในนามกรมศิลปากร ปี 2525 ทำโครงการวิจัยเรื่องโบราณโลหะในประเทศไทย ร่วมกับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ได้เริ่มทำการศึกษาโบราณโลหะวิทยาเต็มตัว ได้ขุดค้นเหมืองแร่ทองแดงที่ภูโล้น จังหวัดหนองคาย เป็นเหมืองแร่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ครั้งแรกในประเทศไทย แล้วก็ขุดค้นแหล่งถลุงทองแดงที่โนนป่าหวาย อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ทำให้ข้อมูลเรื่องโบราณโลหะวิทยาชัดเจนขึ้น คนรู้จักเรื่องนี้มากขึ้น คนก็มองว่าเราทำงานเน้นเรื่องนี้ชัดเจน มีบทความเกี่ยวกับโบราณโลหะวิทยาออกมาเยอะในช่วงนี้ 

ในที่สุดย้ายมารับตำแหน่งอาจารย์ที่คณะโบราณคดี?

ครับ ผมทำงานอยู่กองโบราณคดี 11 ปี ตอนนั้นซี 6 เป็นหัวหน้างานโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ พอดีทางคณะชวนให้ไปเป็นอาจารย์เลยทำเรื่องโอนย้าย 

ต้องปรับเปลี่ยนแนวการทำงานมากมั้ยคะ 

เรื่องการสอนไม่หนักใจหรอกเพราะสอนเรื่องที่เรารู้ แต่ที่หนักคือสอนโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์เอเชีย ก่อนประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ เพราะเรายังไม่มีสื่อการสอน ปีแรกต้องเตรียมการสอน ช่วงแรกใช้แผ่นใสอย่างเดียวเลย คอมพิวเตอร์ยังไม่มีแพร่หลาย จังหวะนั้นอาจารย์ลาเรียนกันเยอะ เหลืออาจารย์ก่อนประวัติศาสตร์ 3 คน เปิดปริญญาโทด้วยนะ สอนอาทิตย์ละ 7 วิชา แทบบ้าเลย ปีที่สองเริ่มมีโอกาสใช้คอมพิวเตอร์ ที่คณะเพิ่งมีวิชาคอมพิวเตอร์สอนแบบง่ายๆ คอมพ์ยังเป็นรุ่น 386 จอเขียว ฮาร์ดดิสก์ยังไม่มีมั้ง ใช้เวิร์ดจุฬาฯ น่ะ มีวันหนึ่งคนสอนคอมพ์บอกว่าผมมีคอมพ์เก่าไม่รู้เอาไปไว้ที่ไหนอยากเอามาให้คณะ ผมเลยได้หัดใช้ เริ่มอ่านหนังสือเริ่มเรียนเอง สักพักกู้เงินสวัสดิการมหาวิทยาลัยซื้อคอมพิวเตอร์ตัวแรกในชีวิต เอเซอร์ 486 สี่หมื่นกว่าบาท จำได้เลย พอเป็นของเราก็กล้าเปิด แกะโน่นแกะนี่ เปิดหนังสือดูรู้ว่าอัพเกรดได้ก็ไปบ้านหม้อซื้อชิพซื้ออะไรมาต่อเอง บางทีก็เล่นโปรแกรมจนเครื่องล้มแต่ก็แก้เองได้ สองปีต่อมาประกอบเครื่องเองเลย ไปพันทิปซื้ออุปกรณ์มาทีละชิ้น  ปีต่อมาผมเริ่มทำสื่อการสอนด้วยพาวเวอร์พอยท์แล้ว ทีนี้พอมีทุนเข้ามาก้อนหนึ่งผมบอกภาคให้ซื้อแอลซีดี โปรเจ็คเตอร์ เจ็ดหมื่นกว่าบาท เอามาใช้ตอนบรรยาย 

ยังได้ทำงานภาคสนามนะคะ?

ครับ ได้รับมอบหมายให้คุมภาคสนามมาตลอด ผมก็เอาเทคนิควิธีใหม่ที่ทำในกรมศิลปากรไปสอนเด็ก โดยเฉพาะการทำผังลงกระดาษกราฟ อีกอันคือให้นักศึกษาเขียนบันทึกประจำวันตอนเย็นให้เราอ่าน กว่าเราจะอ่านรายงานทุกคนเสร็จก็ดึกมาก

 ช่วงนี้อาจารย์มีผลงานวิชาการออกมามาก?

เป็นบทความมากกว่าครับ เขียนหลายสิบเรื่องส่งไปให้วารสารเมืองโบราณบ้าง นิตยสารศิลปวัฒนธรรมบ้าง ที่เป็นเล่มก็พวกเอกสารคำสอนประกอบวิชาต่างๆ วิชาก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย วิชาก่อนประวัติศาสตร์เอเชีย ชิ้นนี้ผมเสนอขอตำแหน่งวิชาการเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ อีกเล่มคือวิชาก่อนประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล่มนี้ขอตำแหน่งวิชาการรองศาสตราจารย์

 เตรียมผลงานสำหรับตำแหน่งศาสตราจารย์หรือยังคะ

(ยิ้ม) มีงานวิจัยที่ทำอยู่แต่ยังไม่เสร็จดี เป็นงานวิจัยที่ใช้ขอได้น่ะนะแต่ยังไม่พร้อม กะว่าหมดภาระงานบริหารคงได้ตั้งหลัก ที่ทำอยู่เช่นเอกสารคำสอนเกี่ยวกับวิชาโบราณคดีปฏิบัติ ลักษณะเป็นแบบฝึกหัดการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดี เขียนเป็นโจทย์ให้ข้อมูลทางโบราณคดี แล้วให้นักศึกษาวิเคราะห์ว่าจะแปลความยังไง ที่เตรียมการอยู่ตอนนี้คือหนังสือเล่ม กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรมจะพิมพ์ให้ เรื่อง ศิลปะและวัฒนธรรมยุคก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยเป็นเอกสารคำสอนที่เอามาปรับ เขาว่าจะออกเดือนกรกฎาคมน่ะครับ เป็นหนังสือสำหรับนักเรียนนักศึกษา 

อาจารย์คิดว่านักโบราณคดีต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมมั้ย

นักโบราณคดีต้องรับผิดชอบต่องานวิชาชีพของตัวเองครับ ถ้าเอาสิ่งผิดๆ ไปสอนเด็กก็แย่ อย่างเมื่อก่อนเคยสอนกันว่าคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไต อันนี้นานมากกว่าจะแก้ความเข้าใจนี้ได้ ถ้าเราไม่รู้จริงต้องบอกว่าไม่รู้ ต้องพูดสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นความจริง และต้องพูดว่าสิ่งที่เราพูดวันนี้เป็นสิ่งที่คาดว่าเป็นจริง แต่มันอาจเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคต คือไม่มีใครรู้จริงแท้แน่นอนในการศึกษาเรื่องอดีต ผมบอกนักศึกษาเสมอว่าโบราณคดีไม่ใช่ศาสตร์ที่จะพิสูจน์ว่านี่คือจริงแท้ แต่บอกได้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าปรากฏการณ์ในอดีตน่าจะเป็นอย่างนี้ จะทำให้เราเปิดช่องว่างให้เราเองว่าสิ่งที่เราพูดอาจผิดทั้งหมดก็ได้ คือเราต้องสำนึกว่าเราต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ต้องยอมรับว่าเราไม่รู้อะไรอีกเยอะ พร้อมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น แล้วมาวิเคราะห์ว่าใช้ได้มั้ย

 ทุกวันนี้ยังทำงานภาคสนามอยู่ตลอด?

ผมชอบอยู่ในหลุมมากกว่า (หัวเราะ) ถ้าเผื่อว่าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ขอเลือกลงไปทำงานในหลุมดีกว่า การทำงานในหลุมมันเห็นทันทีว่ามีอะไร ได้เรียนรู้ตลอดเวลา

 ………………………….

ยุวดี มณีกุล : สัมภาษณ์

Secular State : อินเดียไม่ประกาศให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ

ประเด็น ศาสนาประจำชาติเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากในสังคมไทยที่อยู่ในภาวะแตกแยกทางความคิดมากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สยามเวลานี้ อีกทั้งยังเป็นช่วงเวลาของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อันหมายถึงฐานรองรับกฎหรืออำนาจชอบธรรมสูงสุดครั้งใหม่เช่นกัน เพราะไม่ว่าอย่างไรศาสนา ศาสนาก็คือเรื่องของความเชื่อหรือศรัทธาที่สามารถแปรเปลี่ยนสู่การเป็นเครื่องมือของผู้ใช้อำนาจนำได้เสมอมา

อย่างไรก็ตาม องค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องศาสนาเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพหุสังคมหรือพหุวัฒนธรรมเช่น สยามประเทศ  ARCHAEO 45 จึงของบทสัมภาษณ์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี ที่ลงในเว็บไซต์ ประชาไทมานำเสนอเต็มๆในพื้นที่นี้อีกทางหนึ่ง เพื่อนำไปสู่การถกเถียงหรือชวนคิดอย่างมีเหตุผลตามหลักการแห่งศาสนาทุกศาสนา

ดร.เชษฐ์ ติงสัญลี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

สัมภาษณ์โดย ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

บนโลกใบนี้ ประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อมากที่สุดประเทศหนึ่งคงหนีไม่พ้นประเทศอินเดีย และบนความแตกต่างมากมายนี้ก็ไม่เคยประกาศยกให้ศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ แม้ว่าจะมีพลเมืองมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ นับถือศาสนาฮินดู อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ นับตั้งแต่ประเทศอินเดียก่อตั้งเป็นประเทศและมีรัฐธรรมนูญหลังจากการได้รับเอกราชจากประเทศอังกฤษ คนในประเทศอินเดียกลับไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญเลยสักครั้ง แม้จะมีความแตกต่างกันมากมายและแตกตัวออกไปเป็นรัฐต่างๆ กว่า 20 รัฐ  ในโลกใบนี้เช่นกัน ประเทศที่มีความคล้ายคลึงอินเดียมากที่สุดประเทศหนึ่งก็คือ ประเทศไทยโดยเฉพาะด้านที่มีความแตกต่างหลากหลายทางความคิดความเชื่อมากมายมาอยู่ร่วมกัน อีกทั้งลัทธิความเชื่อ ศาสนา รูปแบบการเมืองการปกครองต่างๆ ตั้งแต่สมัยอดีตกาลมาก็ล้วนรับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดียไม่มากหรือน้อยเกินไป ผสมผสานกลมกลืนกันมาจนกลายมาเป็นประเทศไทยในปัจจุบัน ทว่าในเวลานี้กลับเลือกมองข้ามแนวทางจัดการความแตกต่างแบบอินเดียอย่างไม่คิดจะเหลือบแลแม้จะแค่ให้เป็นกรณีศึกษา

ทำไมดินแดนแรกจึงดำรงเอกภาพบนความแตกต่างไว้ได้อย่างมีเอกลักษณ์และมั่นคงสถาพร ในขณะที่อีกประเทศหนึ่งกลับพยายามเชิดชูศาสนาหนึ่งขึ้นมาบนกฎหมายสูงสุดของประเทศและฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้วไม่รู้ต่อกี่ครั้ง  บางทีเราอาจต้องย้อนทางกลับไปสู่เส้นทางที่เดินมาบ้าง เพื่อทบทวนอะไรบางอย่างที่อาจสูญหายไประหว่างทาง

ประชาไทขอนำผู้อ่านกลับไปสู่รากเหง้าทางความเชื่อและศาสนา จากประเทศอินเดียสู่ประเทศไทย ผ่านคำสัมภาษณ์ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เดินทางกลับมาจากอินเดียดินแดนหลากอารยธรรมหมาดๆ หลังเก็บความรู้ ความคิดและความหลังในดินแดนภารตะมาถึง  4 ปีเต็ม  

โปรดพิจารณาความเหมือนบนความต่าง….แล้วโปรดกลับมาพิจารณาทบทวนกันอีกทีว่าศาสนาประจำชาติ คือคำตอบของการรักษาศาสนาจริงหรือ

000

ฐานความเชื่อทางศาสนาของชาวอินเดียในปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร

ปัจจุบันคนอินเดียนับถือศาสนาฮินดูประมาณ 80 เปอร์เซ็น นับถือศาสนาอิสลาม 10 เปอร์เซ็น นอกนั้นเป็นศาสนาอื่น เช่น ซิกส์ พุทธ เชน หรือที่มีบ้างเล็กๆ น้อยๆ เช่น คริสต์ และโซโลฮัสเตอร์

ทุกศาสนามารวมกันที่อินเดียมาตั้งแต่สมัยโบราณ อย่างศาสนาคริสต์ไม่ใช่เพิ่งเข้ามาตอนในอินเดียช่วงตกเป็นอาณานิคมอังกฤษ แต่เชื่อว่าเข้ามาตั้งแต่สมัยเซนต์โธมัสหรือหลังจากที่พระเยซูโดนตรึงกางเขน อย่างไรก็ตาม ตรงนี้อาจจะบอกเล่ากันเกินจริงไป แต่อย่างน้อยตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจฬะ(พุทธศตวรรษที่ 15 – 19) ศาสนาคริสต์เข้ามาแล้ว หลักฐานจะมีลักษณะเป็นเรื่องเล่า แต่สำหรับหลักฐานที่เป็นจารึกไม่แน่ใจว่ามีหรือไม่ ศาสนาคริสต์ยุคเก่าๆ เช่น คริสต์จากซีเรียหรือเปอร์เซียที่ภายหลังได้รับการกดดันจากศาสนาอิสลามก็ย้ายมายังอินเดียด้วย

สรุปแล้วศาสนาไหนก็ตามแม้แต่จากเอเชียตะวันตกก็จะมายังอินเดียทั้งหมดจนคล้ายเป็นแอ่งรองรับความเชื่ออย่างพวกโซโลฮัสเตรียนหรือศาสนาดั้งเดิมตามแถวเปอร์เซียที่นิยมบูชาไฟก็ย้ายมาแถวๆ รัฐคุชราต แต่ในขณะเดียวกันภายในอินเดียเองก็มีความเชื่อตัวเองอยู่ก่อนด้วย

ความเชื่อตั้งแต่ดั้งเดิมในอินเดียที่ว่าเป็นอย่างไร

รากฐานความเชื่อดั้งเดิมในอินเดียมาจากศาสนาพระเวท เป็นศาสนาแรกที่มาจากตะวันตกนอกอินเดีย(เอเชียกลาง) แล้วเข้ามาเจอกับศาสนาพื้นเมืองที่โมเหนโช-ดาโร ของอินเดีย (อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ราว 2,000 ปีก่อนพุทธกาล )  

ศาสนาพื้นเมืองของอินเดียนับถือเทพธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ เพราะโมเหนโช-ดาโรเป็นอารธรรมเกษตรกรรมจึงจะนับถือดินหรือสัญลักษณ์ความอุดมสมบูรณ์ได้แก่ สัญลักษณ์อวัยวะเพศหญิง สัญลักษณ์อวัยวะเพศชาย เช่น ศิวลึงค์ โยนี หรือพระแม่ธรณี

ส่วนศาสนาพระเวทที่เข้ามาผสมโดยพวกอารยันในเวลาต่อมานั้นแม้จะเชื่อเทพธรรมชาติเช่นกัน แต่เป็นเทพธรรมชาติตามอารยธรรมที่เป็นสังคมเร่ร่อน การเร่ร่อนไปมาจึงต้องสู้รบไปด้วยจึงนิยมนับถือพระอินทร์เพราะเป็นเทพเจ้าแห่งสงคราม หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เวลากลางคืนพวกเร่ร่อนจะตั้งเตนท์แล้วก็ก่อกองไฟตรงกลางเพื่อป้องกันสัตว์ร้ายก็จะนิยมนับถือพระอัคนีด้วย ลักษณะความเชื่อจะเป็นอะไรแบบนี้

ทั้ง 2 อารยธรรมแม้จะนับถือเทพธรรมชาติเหมือนกันแต่ตั้งอยู่บนวิถีชีวิตวัฒนธรรมที่ต่างกัน พอมาเจอกันก็ดูดกลืนความเชื่อกันไป โดยเฉพาะการทำให้คนนอกศาสนาพระเวทเข้ามาเชื่อศาสนาพระเวท ดังนั้นพอศาสนาพระเวทเข้ามาอินเดีย พวกเทพสูงสุดดั้งเดิมเช่น พระสุริยะ พระอินทร์ ก็ตกยุค แต่เกิดตรีมูรติหรือเทพสูงสุด 3 องค์ขึ้นมาแทนได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม

ประเด็นคือ หลังการผสมผสานทางความเชื่อครั้งนี้ทำให้เกิดความเชื่อว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่ดีต้องบูชาเทพ บูชาแล้วจะได้ชีวิตที่ดีทั้งโลกนี้และโลกหน้า ต่อมาภายหลังเกิดการคลี่คลายทางความคิดเป็นความคิดใหม่ว่า น่าจะหลีกหนีสังคมไปอยู่ป่าแล้วติดต่อกับพระเจ้า การหลุดพ้นไม่ใช่การอยู่ในสังคม เมื่อมาวิเคราะห์ผนวกไปกับกับลักษณะฤดูในอินเดีย ฤดูในอินเดียมันรุนแรงมาก ฤดูหนาวก็ติดลบไปเลย แต่พอฤดูร้อนก็ขึ้นสูงไปถึง 50 องศา แล้วก็กลับมาหนาวอีกมันคล้ายเป็นวงกลม ความคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดจึงเกิดขึ้นมา ความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดนั้นไม่มีในความเชื่อของชาวอารยันดั้งเดิม ไม่มีบ่งบอกในพระเวท

นั่นคือรากกำเนิดของศาสนาฮินดูหรือศาสนาหลักในอินเดียที่สืบทอดมาจนปัจจุบัน แล้วศาสนาพุทธเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

พอคนเริ่มเปลี่ยนความคิดว่า หากอยากได้อะไรให้ก่อไฟบูชายัญเป็นหลีกลี้สังคมไปบำเพ็ญตบะหรือบำเพ็ญจิตใจให้บริสุทธิ์ก่อนเข้าไปรวมกับพระเจ้า แนวคิดนี้ปูพื้นฐานให้ศาสนาพุทธ

การเข้าไปรวมกับพระเจ้าของฮินดูคือตัวตน เรียกว่า อาตมันหรือพรหมมัน  คือเรามีตัวตนของเราเป็นวิญญาณเรียกว่าอัตตา ในภาษาสันสกฤตเรียกว่าอาตมัน แล้วก็มีวิญาณอันใหญ่อาจเรียกว่าอัตตาอันยิ่งใหญ่ที่สร้างโลกหรืออะไรก็ตามในโลกเรียกว่า ปรมาตมันรากศัพท์มาจากคำว่า บรมบวกกับ อาตมันดังนั้น ถ้าตายแล้วจิตใจยังไม่บริสุทธิ์มันก็เวียนว่ายตายเกิด จนจิตใจหมดสิ้นจากกิเลสแล้วค่อยไปรวมกับปรมาตมัน

คงจำได้ ก่อนเกิดศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าไปเรียนกับอาจารย์พราหมณ์ในป่ามาก่อน แม้จะได้พื้นฐานแต่พระพุทธเจ้าต่อยอดออกไป เช่น ในขณะที่พราหมณ์ไปบำเพ็ญตบะในป่าแต่ก็ยังฆ่าสัตว์บูชายัญ แนวทางพระพุทธเจ้าจะไม่เห็นด้วยกับตรงนี้  นอกจากนี้เวลานั้นแนวคิดการนับถือพระเจ้าได้พัฒนาไปสู่การนับถือพระเจ้าสูงสุดแล้วคือการไปรวมกับพรหมมัน แต่พระพุทธเจ้าเห็นว่าทุกอย่างมันไม่มีตัวตน มันตรงข้ามกัน

แล้วทั้ง 2 ศาสนาอธิบายสังคมต่างกันหรือไม่

ในศาสนาฮินดูมีเรื่องวรรณะ ทฤษฎีเดิมเชื่อว่าแยกกันด้วยเรื่องสีผิว คือแบ่งแยกสีผิวคนอารยันกับฑราวิกหรือคนพื้นเมือง แต่ภายหลังมีอีกทฤษฎีที่มาอธิบายว่าวรรณะแบ่งกันตามอาชีพที่ประมาณว่ามาจากการหวงวิชา แล้วถ่ายทอดกันไปเฉพาะกลุ่ม

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีเก่าที่ว่าแยกตามสีผิวต้นทฤษฎีมาจากความหมายของคำว่า วรรณะที่แปลว่า สีกลายเป็นทฤษฎีที่แบ่งแยกระหว่างชาวอารยันกับฑราวิก ส่วนทฤษฎีการแบ่งตามอาชีพนั้นอธิบายต่อว่าเมื่อแบ่งหน้าที่ทางสังคมแล้ว พื้นฐานของสังคมทั่วไปคือการเหยียดกันระหว่างอาชีพกับอาชีพด้วย แนวคิดนี้ทำให้ตกต่ำลงจนทำให้ศาสนาพุทธถีบตัวขึ้นมาจากการปฏิเสธแนวคิดนี้

กฎทางสังคมถ้าไม่เอาไปผูกกับแนวคิดทางศาสนามันก็ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าไม่ศักดิ์สิทธิ์คนก็แก้ไขได้จริงหรือไม่ เหมือนรัฐธรรมนูญถ้าเป็นแค่กฎหมายเป็น  Secular (เรื่องทางโลก) มันไม่ศักดิ์สิทธิ์คนแก้ได้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่บอกว่า กฎหมายนี้มาจากพระเจ้า ดังเช่น กฎในไบเบิ้ล บัญญัติ 10 ประการที่มาจากพระเจ้า ถามว่าแก้ได้หรือ

ความต่างระหว่าง Holy Law (กฎหมายศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับศาสนา) กับ Secular Law (กฎหมายทางโลก) คือการบวกความศักดิ์สิทธ์เข้าไป ดังนั้น เรื่องวรรณะถ้าจะให้คนเชื่อก็เอาไปบวกกับศาสนา เมื่อมันศักดิ์สิทธิ์คนก็ไม่สามารถแก้ได้จึงต้องเอาศาสนาอีกศาสนาหนึ่งมาแก้ ดังนั้น อยู่ดีๆถ้าใครจะมาบอกว่าล้มระบบวรรณะนั้นทำไม่ได้

ในช่วงเวลาหนึ่งศาสนาพุทธกับศาสนาฮินดูเจริญแข่งกันมาในอินเดีย แล้วทำไมศาสนาพุทธจึงเสื่อมสลายไปจากอินเดียในปัจจุบัน

อาจเพราะศาสนาพุทธพัฒนาตัวเองเข้าไปใกล้ศาสนาฮินดูทุกทีๆ  มันคล้ายกับการขายสินค้า พอขายสินค้ามันก็ต้องเลียนแบบกัน พอเลียนแบบมากๆเข้าแบบพอซื้ออันนี้จากแหล่งนี้ อีกแหล่งก็บอกว่ามีเหมือนกัน มันปรับตัวลดแลกแจกแถมกันไปให้คนซื้อรู้สึกว่าได้เลือกสิ่งที่ดีกว่า

ในสมัยก่อนศาสนาฮินดูกับศาสนาพุทธต่างกัน แต่ศาสนาพุทธเมื่อพระพุทธเจ้านิพพานไปแล้ว เราไม่สามารถขออะไรจากพระพุทธเจ้าได้ เพราะถือว่าหายไปแล้ว ส่วนศาสนาฮินดูบอกว่ามีพระเจ้า มีความทุกข์ร้อนอะไรก็ขอจากพระเจ้าได้ ดังนั้น หากไม่ได้เรียนรู้ทางปรัชญามาก็จะเข้าไปขอ เขาก็จะบอกว่าแบบนี้ฮินดูก็ดีกว่าสิ พุทธก็เลยสร้างพระโพธิสัตว์ขึ้นมาแข่ง แตกออกมาเป็นมหายานเลย ใช้ทำหน้าที่แทนพระเจ้า

ทางฮินดูพอเห็นแบบนี้ก็ยิ่งทำให้มีอิทธิฤทธ์มากมายขึ้น พุทธก็ทำบ้างมีหลายมือหลายตา พอฮินดูบอกมีศักติ พุทธก็บอกว่ามีนางปรัชญา ก็แข่งกันไป

แนวคิดนี้นำมาสู่กับนับถือพุทธศาสนานิกายตันตระที่สูงมากขึ้นในอินเดีย เพราะการแข่งขันทำตลาดความเชื่อใช่หรือไม่

ใช่ แต่มันมีสองแนวคิดเกี่ยวกับการสลายของศาสนาพุทธในอินเดีย คือ ศาสนาพุทธเสื่อมลงจนกระทั่งไปคล้ายฮินดูมากขึ้นทุกที จนถูกมองว่าแม้จะไม่มีสงครามกับศาสนาอิสลามในอินเดีย  คนก็จะทิ้งศาสนาพุทธไปเอง แต่ในอีกมุมหนึ่งบอกว่าถ้าเสื่อมจริงทำไมทิเบตจึงรับศาสนาพุทธแบบมีพระโพธิสัตว์ไปแล้วยังสืบต่อศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองได้ ประเด็นคือแม้ศาสนาอิสลามจะเข้ามาพัฒนาการของศาสนาพุทธก็ไม่จบไปแต่กลับเข้าไปในทิเบตแล้วพัฒนาต่อ

แต่หากมองพัฒนาการพุทธศาสนาในอินเดียจะเห็นว่าต่างจากนิกายเถรวาทในประเทศไทย

เป็นความต่างในการใช้เครื่องมือ พุทธตันตระมีหลักคิดเกี่ยวกับเครื่องมือในการทำสมาธิ เช่น ภาพมณฑล(ที่อยู่ของเทพ) ประติมากรรมที่อาจเป็นเทพองค์ใดองค์หนึ่ง แล้วใช้เทพองค์นั้นเป็นเครื่องมือในการทำสมาธิ แต่เมื่อถึงขั้นสุดท้ายก็ปฏิเสธว่าแม้แต่เทพองค์นั้นก็ไม่มี ทุกอย่างเป็นมายา

เทพเป็นเครื่องทำสมาธิที่เหมือนกับการจำลองรูปของสิ่งที่ไม่มีรูปหรือไม่มีตัวตัวตนออกมา พอเราเพ่งจนเป็นอารมณ์ ประติมากรรมหรือภาพมณฑลนั้นจะอยู่ในใจเรา จนเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเทพหรือมณฑลอันนั้น ในที่สุดเราก็จะรวมกับเทพองค์นั้น มันเหมือนกับเลียนแบบฮินดู แต่ท้ายสุดคือขอให้รู้ว่าแบบนั้นมันก็เป็นอนัตตา ขอให้รู้ว่าทุกอย่างที่ทำขึ้นมานั้นไม่มีจริง ให้สำนึกรู้เอาเองว่าคือมายา 

แสดงว่าอินเดียมีความเชื่อที่หลากหลายจนเป็นพหุสังคม แล้ววิธีการจัดการความต่างทางความเชื่อไม่ให้มีความขัดแย้งเป็นอย่างไร

สมัยโบราณกษัตริย์จะเลือกนับถือศาสนาโดยเฉพาะศาสนาฮินดู เพราะเป็นฐานให้อำนาจกับกษัตริย์ได้ อาจสามารถอ้างตัวเองได้ว่าพระเจ้าเลือกมาบ้าง เป็นบุตรแห่งพระเจ้าบ้าง ก็ว่ากันไป ดังประติมากรรมกษัตริย์ในราชวงศ์กุษาณะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 6- 9 ) ที่พิพิธภัณฑ์มถุรา ที่ฐานจะมีจารึกเขียนว่าฉันเป็นลูกแห่งเทวดา หรือเหรียญต่างๆในสมัยนั้นจะแสดงให้รู้ได้เลยว่ากษัตริย์นับถือศานาฮินดู เช่น กษัตริย์กุษาณะยืนแล้วมือหนึ่งเอาของโยนในกองไฟ คงเป็นเรื่องการบูชาเทพเจ้า หรือแม้แต่กษัตริย์ในราชวงศ์คุปตะ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 8 -10 ) ก็พบหลักฐานลักษณะคล้ายกัน

แต่ขณะเดียวกันกลับปรากฏว่าในสมัยราชวงศ์คุปตะ ประติมากรรมในศาสนาพุทธกลับรุ่งเรืองและพบมากมาย อาจเพราะกษัตริย์ถือนโยบายอุปถัมป์ทุกศาสนา หรือแม้แต่ช่วงหลังคุปตะ (พุทธศตวรรษที่ 11 -14 ) เมืองหลวงของราชวงศ์วกาฏกะสร้างแต่ศาสนสถานฮินดู แต่ช่วงนั้นกลับมีขุนนางคนหนึ่งจะสร้างถ้ำอชัญตา (ถ้ำที่เป็นสังฆารามทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในสมัยโบราณประกอบด้วย 28 ถ้ำ มีทั้งภาพจิตรกรรมและประติมากรรมในพุทธศาสนา – ประชาไท) กษัตริย์ก็เปิดทาง

แต่ก็เหมือนกันมีที่กษัตริย์บางพระองค์ถือนโยบายศาสนาประจำราชวงศ์ จนสั่งทำลายวัดอื่นอย่างราชวงศ์ปัลลวะหรือโจฬะ ศาสนาประจำราชวงศ์เป็นฮินดู ไศวะนิกาย กษัตริย์บางพระองค์จะสั่งทำลายไวษณพนิกาย ในจารึกหนึ่งบอกว่า จงเอานารายณ์บรรทมสินธุ์ไปทิ้งทะเล เพราะว่าทะเลเป็นที่อยู่นารายณ์บรรทมสินธุ์ให้ไปอยู่ในที่นั้นก็แล้วกัน ผู้นับถือไวษณพนิกายก็เลยต้องหนีไปที่อื่น

แต่ความขัดแย้งที่มารุนแรงจริงๆคือ เมื่อศาสนาอิสลามเข้ามาด้วยสงคราม แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไปในระยะหลัง กษัตริย์อิสลามพระองค์หลังๆกลับเริ่มเข้าใจว่าไม่สามารถสร้างอิสลามบริสุทธิ์ในอินเดียได้ ตรงนี้แสดงความเข้มแข็งมากของวัฒนธรรมอินเดีย กษัตริย์อิสลามจึงต้องมาคิดว่าทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ตัวอย่างสำคัญคือพระเจ้าอักบาร์ แห่งราชวงศ์โมกุล (พุทธศตวรรษที่ 21 -23 ) จะไม่มีการไปต่อต้านฮินดูอีก และคิดไปถึงขนาดที่จะเอาหลักดีๆของศาสนาอื่นมารวมกัน นอกจากนี้กษัตริย์แคว้นคุชราตบางคนแม้จะเป็นอิสลามก็แต่งงานกับมเหสีชาวคริสต์บ้าง ฮินดูบ้าง อย่างกษัตริย์พระองค์หนึ่งพอสวรรคต เจ้าหญิงฮินดูที่แต่งงานด้วยก็สร้างมัสยิดถวาย ตัวมัสยิดเองก็ใช้ชื่อภาษาสันสกฤตด้วย

แสดงว่าในวัฒนธรรมอินเดียในอดีตแม้จะมีความขัดแย้งเพราะความเชื่อใหม่หรือศาสนาเข้ามา แต่ก็ใช้ความหลากหลายเป็นรากฐานวัฒนธรรมทำให้มีความเข้มแข้ง และเกิดการประนีประนอมกันมากกว่าเกิดการประหัตถ์ประหารกัน  แล้วในปัจจุบันจัดการความแตกต่างต่างจากในอดีตหรือไม่ 

เมื่อเกิดประเทศอินเดียขึ้นก็ระบุเลยว่าอินเดียเป็น Secular State (ประเทศที่ไม่เน้นเรื่องศาสนาหรือมีศาสนามาครอบงำทางการเมือง) หรือประเทศที่ไม่ถือว่าศาสนาใดเป็นศาสนาประจำชาติ เพื่อให้ชนกลุ่มน้อยมีตัวตนขึ้นมา ถ้าเขียนว่าฮินดูเป็นศานาประจำชาติจะทำให้ทุกคนต้องนับถือฮินดู หรือกฎหมายทุกอันต้องออกมาสอดคล้องรองรับความเป็นฮินดู

ถ้าอินเดียยึดถือประชากร 80 เปอร์เซ็นแล้วประกาศศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ ระบบวรรณะก็จะยังคงอยู่ คนที่นับถือศาสนาอื่นอาจจะไม่มีสิทธิในสภาหรือไม่มีวันหยุดราชการเป็นของตนเอง ไม่สามารถใช้ภาษาตนเองเป็นภาษาราชการได้

ปัจจุบันภาษาราชการในอินเดียมี 15 ภาษา หนึ่งในภาษานั้นก็มีอูระดูซึ่งเขียนด้วยตัวอาหรับ ถ้าคนมุสลิมไม่สามารถเขียนอักษรเทวนาครีได้ก็สามารถใช้อักษรอาหรับเป็นภาษาติดต่อราชการได้ ภาษาทั้ง 15 ภาษาจะแบ่งตามเชื้อชาติ ทั้งนี้ ประเทศอินเดียแบ่งออกเป็น 20 รัฐที่ใช้ภาษาต่างกัน แต่ละรัฐจะภูมิใจในศาสนาของตัวเอง ดังนั้น เมื่อเข้าไปในแต่ละรัฐก็เหมือนเปลี่ยนประเทศใหม่ แต่ในธนบัตรเขาจะพิมพ์ภาษาทั้ง 15 ภาษาลงไป หรือวันหยุดราชการก็จะหยุดทุกศาสนาเพื่อให้ทุกศาสานาเท่าเทียมกัน ดังนั้นแม้เป็นชนกลุ่มน้อยก็สามารถประกอบพิธีของเขาได้

ประเทศอินเดียยอมรับกันในความต่างสูงมาก มิฉะนั้น อินเดียนยูเนี่ยนหรือสหพันธรัฐอินเดียตามศัพท์เดิมที่มหาตมะคานธีตั้งก็ไม่สามารถรวมกันได้ การเป็น Secular State แล้วก็ทำให้สังคมสมานฉันท์กัน

แล้วถ้าเปรียบเทียบลักษณะร่วมและลักษณะที่แตกต่างระหว่างอินเดียกับไทย

ลักษณะร่วมคือเป็นสังคมหลากหลายเหมือนกัน ประเทศไทยมีทั้งคนนับถือศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอื่นๆมาอยู่ร่วมกัน เพียงแต่เรากลับรู้สึกว่าแกนของเมืองไทยคือศาสนาพุทธและจะต้องหยุดที่ความสำคัญของศาสนาพุทธเท่านั้น ต้องใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการเท่านั้น คนไทยชอบไปมองต่างประเทศที่คิดว่าเป็นอารยะแล้วแต่ไม่มองประเทศที่มีลักษณะพื้นฐานคล้ายๆกัน

ลักษณะสังคมไทยก่อนที่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทจะเข้ามาก็เคยอยู่กันด้วยความหลากหลาย เช่น สมัยทวารวดี พุทธศาสนานิกายเถรวาทก็อยู่กับนิกายมหายานได้ ฮินดูก็อยู่ร่วมกันทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกาย และยังมีนับถือผีอีก แต่อยู่ร่วมกันได้

ในจารึกสุริยวรมันที่ 1 หรือจารึกศาลพระกาฬที่พบในจังหวัดลพบุรี กษัตริย์เหมือนเคยพูดว่าศาสนาทุกศาสนาอยู่ร่วมกันด้วยความสุข ประกาศคุ้มครองทุกศาสนา แม้ว่ากษัตริย์จะเป็นฮินดูไศวนิกายก็ตาม นอกจากนี้ก็อนุญาตให้สร้างปราสาทเป็นศาสนสถานพุทธได้(เนื้อความในจารึกศาลพระกาฬหรือจารึกหลักที่19  : (มหา) ศักราช 944 วันอาทิตย์ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 10 พระบาทกัมรเดงกำตวน อัญศรีสูรยวรมทวะ มีพระบัณฑูรตรัส พระนิยมนี้ให้บุคคลทั้งหลายถือเป็น สมาจารคือกฎที่ต้องประพฤติปฏิบัติตามต่อไป

ในสถานที่อยู่ของดาบสทั้งหลาย หรือของผู้ซึ่งบวชเป็นพระภิกษุมหายานก็ดี บวชเป็นสถวิระก็ดี ให้ท่านทั้งหลายที่บวชโดยจริงใจถวาย ตบะแก่พระบาทกัมรเดงกำตวญอัญศรีสูรยวรมเทวะ

ถ้าผู้ใดมาทำทุราจารใน ตโบวนาวาสต่างๆแลมารบกวนดาบสซึ่งถือโยคธรรม ไม่ให้สวดมนต์ถวายตบะแด่พระบาทกัมรเดงกำตวนอัญศรีสูรยวรมเทวะโปรดเกล้าฯให้จับผู้นั้นมาขึ้นศาลสภา เพื่อจะได้ฟังคดีที่ควรจะถูกตัดสินอย่างเคร่งที่สุด  : แปลโดยศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ – ประชาไท ) 

ศาสนาพุทธเนิกายเถรวาทเข้ามาในช่วงไหนและได้รับการยอมรับมากขนาดนี้ในประเทศไทยได้อย่างไร

เคยวิเคราะห์แบ่งช่วงประวัติศาสตร์ตรงที่พุทธศตวรรษที่ 19 เพราะเป็นช่วงที่ศาสนาพุทธและฮินดูในประเทศอินเดียเริ่มเสื่อมเนื่องมาจากศาสนาอิสลามกำลังรุกเข้าไปในช่วงนั้น ทำให้ภูมิภาคแถบเราคงติดต่อกับทางอินเดียได้ยาก จึงต้องไปติดต่อกับทางลังกาที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ความนิยมนิกายเถรวาทจึงเข้ามาในช่วงนี้

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19 โลกมันเปลี่ยนแปลง ทางจีนก็เปลี่ยนเป็นราชวงศ์หยวนหรือมองโกลที่พยายามรุกมาทางพม่าด้วย เรื่องเหล่านี้มันสั่นคลอนหมดทั้งภูมิภาคและโลก ส่วนมุสลิมในอินเดียก็มีอิทธิพลเช่นกัน ทำให้อินเดียที่เคยเป็นแกนให้ภูมิภาคนี้ตลอดเกือบพันปีหายไป พอภูมิภาคเคว้ง พูดง่ายๆก็ต้องช่วยกันเอง ถ่ายทอดความเชื่อกันเอง เริ่มแรกก็รับความเชื่อจากลังกา พอแต่ละรัฐเริ่มมั่นคงขึ้นก็แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมความเชื่อกันภายในภูมิภาคภายใต้พื้นฐานความเชื่อในนิกายเถรวาท 

หลังการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดการจัดการทางความเชื่อที่ต่างกันอย่างไร

กรณีอินเดียที่เป็น Secular State ก็เปิดโอกาส แม้จะมีกฎหมายที่มีอิทธิพลของฮินดูแต่ก็มีกฎหมายที่มีอิทธิพลของอิสลามมาด้วย

สำหรับในประเทศไทยคิดว่าเป็นศูนย์กลางศาสนาพุทธแล้ว แต่ความจริงไม่ได้มองโลก ไม่ได้มองคนอื่นว่าเป็นอย่างไรและไม่ยอมรับความแตกต่าง แค่พุทธเองก็มีนิกายตันตระ มีพุทธแบบทิเบต เขาทำอะไรบ้างก็ไม่เคยรู้ เขามีวิธีคิดทางศาสนาที่ก็พัฒนาไปเรื่อยๆอย่างไร เราก็ไม่สนใจ มองว่าพุทธต้องเถรวาทเท่านั้นแล้วมองอีกว่ามุสลิมเป็นชนส่วนน้อย

หลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ศาสนาพุทธมีความแตกต่างกันมากมายไปตามแต่ละนิกาย แสดงว่าศาสนาพุทธเองแนวคิดก็ไม่ตกผลึกเป็นหนึ่งเดียว ทำให้มีการเมืองของนักบวชใช่หรือไม่ 

ตอนนี้เด็กทุกคนในประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจของหลักสูตรการศึกษาตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาหรือ มัธยมศึกษา ซึ่งจะปั้นเด็กอย่างไรก็ได้ หลักสูตรเหล่านั้นบอกว่าเราต้องรักชาติจนเป็นชาตินิยมไป ปั้นแบบนี้ขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ การปั้นพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มีคำนี้ในหนังสือเรียนซึ่งพอเด็กรับพื้นฐานนี้แล้วรู้ภายหลังว่าทำไมรัฐธรรมนูญจึงไม่มีระบุไว้ก็ช็อก นี่คือเด็กที่ได้รับการสร้างโมเดลเสร็จเรียบร้อย  คนไทยเวลาเรียนไม่ว่าอะไรก็ตามไม่ค้นคว้าต่อ สมมติผมสอนประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วอ้างคัมภีร์อะไรขึ้นมา มีนักศึกษาที่กลับไปค้นว่าที่สอนมันมีในคัมภีร์นั้นจริงหรือไม่สักกี่คน ขนาดนักศึกษามหาวิทยาลัยเป็นแบบนี้ แล้วเด็กประถมหรือมัธยมจะค้นหรือว่ารัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติตามที่บอกไว้ในแบบเรียนหรือที่อาจารย์สอน  แต่ไม่แน่ใจว่าคนที่ร่างรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นมีความคิดเรื่องนี้หรือไม่ การไม่เขียนระบุพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติในรัฐธรรมนูญอาจจะเป็นเพราะมีความรู้เรื่อง Secular State ตั้งแต่แรก ต้องไปศึกษาที่มาของรัฐธรรมนูญว่าทำไมทุกฉบับจึงไม่ระบุให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ  เกี่ยวกับ ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี หลังไปใช้ชีวิตในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย 4 ปี เพื่อศึกษาต่อในระดับดุษฎีบัณฑิต ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากสถาบันพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งประวัติศาสตร์ศิลปะการอนุรักษ์พิพิธภัณฑสถานวิทยา (National Museum Institute of History of Art Conservation and Museology)

4 ปี ในประเทศอินเดีย นอกจากความรู้ภาษาอย่างอังกฤษและภาษาสันสกฤตที่ต้องเรียนแทบทุกวันแล้ว ยังต้องศึกษาวิชาความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะอินเดียโบราณ ศิลปะอินเดียเหนือและใต้สมัยกลาง ประติมานวิทยา พื้นฐานศาสนาต่างๆ ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ภูมิศาสตร์ เพื่อปูพื้นสู่การทำวิทยานิพนธ์เรื่อง สัตตมหาสถาน

ในช่วงเวลา 4 ปีนี้ ดร.เชษฐ์ไปสัมผัสพื้นที่อินเดียจนเรียกได้ว่าแทบทุกรัฐ ไม่ว่าจะจากคุชราตถึงเบงกอล หรือจากแคชเมียร์ถึงทมิฬนาดูเพื่อถ่ายรูปประติมากรรม สถาปัตยกรรม และเข้าพิพิธภัณฑ์ต่างๆ และเดินทางต่อไปยังลังกา บางครั้งก็ไปถึงปากีสถานหรือเนปาล

ดร.เชษฐ์ เล่าว่าเริ่มต้นเดินทางแบบนี้ก็ด้วยการอ่านหนังสือท่องเที่ยวและหนัสือวิชาการบ้าง อินเตอร์เน็ตบ้าง ซื้อหนังสือที่มีรูปบ้าง คนอินเดียมักเดินทางโดยรถไฟเป็นหลักก็หาวิธีการจองตั๋วแล้วจัดสรรเส้นทางเดินทาง หากศาสนสถานใดอยู่ไกลหรือไม่รู้ว่าอยู่ที่ใดก็สื่อสารด้วยภาษาถิ่นตามด้วยการชี้รูปในหนังสือที่ซื้อมาให้คนพื้นถิ่นดู

พ.ศ.2550 ดร.เชษฐ์ กลับสู่ประเทศไทยและเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร