‘พาราลิมปิก’ โลกกีฬาในสังคมที่พิการ

19 กันยายน 2551

 

ผมรู้สึกภูมิใจยิ่งที่สามารถคว้าเหรียญทอง สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทย แต่ก็แอบน้อยใจบ้างที่เงินอัดฉีดของพวกเราจากรัฐบาลน้อยกว่าคนปกติ นี่ถ้าได้สักครึ่งหนึ่งของพวกเขาก็คงดี

      

อย่างไรก็ตาม ผมขอรับใช้ชาติต่อไปใน ลอนดอนเกมส์ 2012 ซึ่งคงเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว หลังกลับถึงเมืองไทยผมจะเดินทางไปแก้บน 3 ที่ ได้แก่ กรมหลวงชุมพร, ดอนเมือง และสระแก้ว ส่วนโครงการใช้เงินตอนนี้ผมยังไม่มีแผนทำอะไรเป็นพิเศษ ขอเก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษาแก่ลูกๆ ทั้งสามคน

 

นี่คือเสียงของ ประวัติ วะโฮรัมย์ เหรียญทองหนึ่งเดียวของไทย ในกีฬา พาราลิมปิกเกมส์ 2008’ หลังเดินทางกลับถึงประเทศไทยในช่วงดึกวันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน 2551

 

แม้ว่าจะมีการต้อนรับอย่างอบอุ่นแต่ความเป็นคนที่ไม่เท่าเทียมกันยังคงเป็นภาพที่ฉายสะท้อนมาอย่างเด่นชัดมองเห็นได้ในสังคมที่ดูพิการแบบบ้านเรา

 

ผมนึกไม่ออกว่าทำไมคนที่เรายกเป็นฮีโร่ทางการกีฬาระหว่างคนปกติกับคนพิการจึงต้องได้ค่าตอบแทนไม่เท่าเทียมกัน บางทีนึกไปอีกว่าสำหรับกีฬาอย่างพาราลิมปิกแล้ว รัฐหรือแม้แต่คนในสังคมเองมองแค่การส่งเสริมให้มีผ่านๆไปแต่ละทีเท่านั้น เป็นมนุษยธรรมที่ดูโรยหน้าราวผักชี ในขณะที่ประเทศจีนซึ่งถูกโจมตีเรื่องมนุษยชนอย่างหนักหน่วงตลอดมา แต่สำหรับกีฬาคนพิการความสำเร็จเกิดจากการใช้ความทุ่มเทและให้ความสำคัญต่อตัวนักกีฬาอย่างชัดเจนจึงมีการเก็บตัวฝึกซ้อมกันถึง 2 ปี แต่สำหรับไทยทำกันเพียงแค่ 3 เดือน  

 

สุดท้ายแล้วชัยชนะยังคงเป็นที่สิ่งที่เรายึดถือ เรายังมองไม่เห็นคนอื่นๆอีกมากมาย แม้แต่ทีมงานต่างๆที่ช่วยกันปั้นนักกีฬาสักคนจนประสบความสำเร็จขึ้นมา หรือคนไม่ได้เหรียญอะไรเลยทั้งกีฬาคนปกติและกีฬาคนพิการเราก็มองไม่เห็นและไม่เจือกำลังใจไปคิดถึงและมอบให้

 

เงินรางวัลอาจเป็นสิ่งที่สร้างแรงใจนักกีฬาก็จริง แต่สำหรับตัวนักกีฬาความภูมิใจที่คนอื่นๆร่วมยินดีด้วยอาจเป็นรางวัลที่ภูมิใจเช่นกัน สำหรับ ประวัติหรือนักกีฬาพิการคนอื่นๆคงไม่ได้น้อยใจแค่เรื่องเงินรางวัลแน่ๆ แต่ความรู้สึกร่วมยินดีมันก็ช่างแตกต่างกับบรรยากาศโอลิมปิกอย่างสิ้นเชิง

 

อาจเป็นเพราะกีฬาต่างๆในพาราลิมปิก คนธรรมดาปกติร่วมเล่นไม่ได้จึงไม่มีอารมณ์ร่วม แต่หากลองตั้งใจดูเกมส์แข่งขันแล้ว ความตื่นเต้นเร้าใจมันมีไม่แพ้กันเลยทีเดียว ยิ่งหากเพียงเรามีผู้บรรยายที่เข้าใจในเกมส์ต่างๆวิเคราะห์เทคนิคลูกเล่นได้ถึงแก่นเพิ่มขึ้นอีก การชมกีฬาและมีอารมณ์ร่วมไปกับนักกีฬาคงมีขึ้น

แล้วเราจะรู้ว่า เหรียญเหล่านั้นไม่ได้มาได้ง่ายๆหรอก

 

ผู้พิการไม่ใช่เพียงผู้รอโอกาสที่สังคมไทยหยิบยื่นให้ แต่เขาสร้างและไขว่คว้ามันด้วยตัวเอง ไม่ต้องสนหรอกว่าเขาเป็นอย่างไร หากเขาทำหน้าที่ได้สมแก่ความภูมิใจในฐานะคนคนหนึ่งได้แล้ว ทำไมเขาจึงไม่สมควรได้รับสิ่งที่เท่าเทียมกันในโลกที่บอกว่ามนุษย์เกิดมาเท่ากัน   

 

ขุนพลน้อย