ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และ “แนวทางใหม่” การวิพากษ์การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ

 ยังไม่มีเวลาอัพบล็อกแบบเขียนถึงมุมมองส่วนตัวอยู่เช่นเดิม แต่พอมีเวลาท่องเว็บบ้าง เลยบังเเอิญไปเจอบทความหนึ่งใน วิชาการดอทคอมhttp://www.vcharkarn.com/include/article/showarticle.php?Aid=119

ส่วนตัวแล้วผมผูกพันอยู่กับภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นพิเศษ อีกทั้งเคารพในอาจารย์ศักดิ์ ชัย สายสิงห์และอาจารย์รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ้วยความเป็นครูที่ใส่ใจลูกศิษย์ตลอดมา

 

อย่างไรก็ตาม บทความนี้ตั้งคำถามกับการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของสังคมไทยได้อย่างแหลมคม ต้องใช้คำว่าการเรียนรู้ประวัติศาตร์อันเนื่องมาจากวิธีคิดทางการเรียนรู้ด้านนี้ไม่ว่าที่ไหนๆ หรือลงไปถึงระดับประถมมัธยมก็ไม่ได้ต่างกัน

 

คงอยู่ที่ว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้วเราจะหันมาร่วมกันถกคิดเพื่อสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆไปกว่ากรอบเดิมๆได้แค่ไหนกันที่แน่ๆคนวงการโบราณคดีเองคงต้องเริ่มหันมาสนใจในบทบาทตนเองต่อสังคมกันให้จริงจังมากขึ้นบ้างแล้วครับ

ผู้เขียน: บก. โบราณคดี

อยู่ในส่วน: ประวัติศาสตร์, ศิลปะ

10 กุมภาพันธ์ 2545

ในจดหมายข่าวโบราณคดี ฉบับที่ 2 มีข้อเขียนที่ว่าด้วยวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะอยู่สองเรื่องติดๆกัน คือเรื่อง แนวทาง(ใหม่)ของการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ศิลปะ โดย (อาจารย์ ดร.) ศักดิ์ชัย สายสิงห์ กับเรื่อง การศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ในฐานะที่เป็นการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี โดยรุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง

แม้ว่าจะเป็นเพียงข้อเขียนสั้นๆเรื่องละสองหน้า แต่มุมมองของทั้งสองเรื่องนี้น่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะหากนำมาเชื่อมโยงใช้ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน

เรื่องแรกเป็นมุมมองของครูผู้สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ผู้ซึ่งพยายามผลิตสร้างนักศึกษาให้มี “คุณภาพ” ด้วยการสอนให้นักศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะได้รู้จักคิด รู้จักค้นคว้า และ “เข้าใจ” ด้วยตัวของตัวเอง แทนที่จะเน้นหนักการท่องจำเช่นที่เคยเป็นมา น่าสนใจว่าสิ่งที่อาจารย์ศักดิ์ชัยค้นพบจากการปรับปรุงการสอนของท่านก็คือ “นอกเหนือจากนักศึกษาหลีกเลี่ยงที่จะมาลงทะเบียนเรียนแล้ว จากการประเมินผลจะพบว่ามีนักศึกษาประมาณ 20-30% เท่านั้นที่สามารถเรียนรู้และทำความเข้าใจกับระบบการเรียนใหม่นี้ได้ดี” (ฮา)

ส่วนเรื่องของคุณรุ่งโรจน์นั้น แม้อาจอนุมานว่าผู้เขียนคงจบการศึกษาจากคณะโบราณคดีไปแล้ว แต่ก็คงถือว่าเป็นมุมมองจากฝ่าย “ผู้เรียน” บ้าง คุณรุ่งโรจน์อธิบายสภาพการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่ผ่านมาว่า “มุ่งเน้นทางด้านรูปแบบและประติมานวิทยา เพื่อให้ทราบที่มาที่ไป การกำหนดอายุ และให้ทราบคติความเชื่อที่แฝงเร้นอยู่” และได้เน้นย้ำอยู่หลายครั้งว่าประวัติศาสตร์ศิลปะคือส่วนหนึ่งของวิชาโบราณคดี ซึ่ง “ไม่สามารถแยกออกจาก(กัน)ได้”

เอาละสิ! อาจารย์ศักดิ์ชัยที่รัก ถ้านักศึกษาเขาเห็นว่าประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของโบราณคดีอย่างนี้ก็แปลว่าตลอดสี่ปีของชีวิตนักศึกษา ประวัติศาสตร์ศิลปะก็ไม่มีตัวตนในฐานะสาขาวิชาที่เป็นเอกเทศในสายตาของเขาเลย ดังนั้น สิ่งที่อาจารย์เรียนมาสอนมาเกือบครึ่งชีวิตก็ไม่มีความหมายอะไรเลยสิ

ตั้งแต่เริ่มต้นบทความ คุณรุ่งโรจน์ได้ให้เค้าเงื่อนบางอย่างแก่เรา ด้วยการชี้แจงว่า “มุมมองของคนจบจากคณะโบราณคดีย่อมคิดว่าวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็คือโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์นั่นเอง…มุมมองนี้ผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่งและคิดว่าถูกต้อง”

 

น่าสนใจว่าความคิดในลักษณะนี้ คงไม่ได้มีอยู่เฉพาะตัวคุณรุ่งโรจน์คนเดียว หากแต่เป็นสิ่งที่มีฟุ้งกระจายอยู่ทั่วไปในคณะโบราณคดี

แต่ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์เฉพาะตัวของคณะโบราณคดีในมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ซึ่งมีแกนดั้งเดิมคือภาควิชาโบราณคดี แล้วค่อยๆงอกกิ่งก้านออกมาเป็นสาขาอื่นๆเช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะ มานุษยวิทยา แม้กระทั่งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส

วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของการจัดการเรียนการสอนวิชาอื่นๆเหล่านี้ คงเป็นไปเพื่อรองรับการศึกษาทางโบราณคดีเป็นหลัก เช่นสอนวิชาดูพระ(ประวัติศาสตร์ศิลปะ) ให้ไปช่วยกำหนดอายุของที่ขุดได้ สอนวิชาภาษาฝรั่งเศสเพื่อให้ไปอ่านตำราศิลปะเขมรของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ เป็นต้น

ไปๆมาๆ แม้ว่าแต่ละวิชาจะพัฒนาต่อมาจนกลายเป็นสาขาเอกเทศ แต่ความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของที่พวกโบราณคดีเคยมีมาก็ยังคงได้รับการสืบทอดจนปัจจุบัน (เช่นที่จะพบได้ว่าคณบดีแทบทุกคนล้วนแต่เป็น “คนใน” คือศิษย์เก่าของคณะโบราณคดีทั้งสิ้น)

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้บางสาขาวิชาเกิดความรู้สึกอึดอัดคับข้อง เช่นมานุษยวิทยา ซึ่งในวงวิชาการทั่วไปแล้ว ถือกันว่าเป็นสาขาใหญ่ที่อาจแยกย่อยออกไปเป็นมานุษยวิทยากายภาพ มานุษยวิทยาภาษาศาสตร์ และโบราณคดี หรือในพวกวิชาเอกภาษาต่างๆซึ่งอย่างไรเสีย ทั้งคนเรียนคนสอนก็ยังนึกไม่ค่อยออกว่าเขาเกี่ยวข้องอะไรกับคณะโบราณคดี

หากแต่ในกรณีของประวัติศาสตร์ศิลปะแล้วก็ดูน่าแปลก ที่ทั้งพวกโบราณคดีก็ยังคงอ้างสิทธิครอบครองอยู่ ในขณะเดียวกันสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะในคณะโบราณคดี ถึงจะปฏิเสธข้ออ้างนั้นและยืนยันการมีตัวตนของสาขาวิชาอยู่เนืองๆ ก็กลับยังคงไว้ซึ่งลักษณะดั้งเดิมบางอย่าง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ปรากฎมีในการศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะที่อื่นๆ

ร่องรอย” หรือประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ติดตัวภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะของคณะโบราณคดี เสมือนสะดืออันเป็น “แผลเป็น” ที่เกิดจากการปลิดตัวอ่อนที่เชื่อมต่อกับมดลูกของแม่นั้น เท่าที่นึกออกขณะนี้มีอย่างน้อยที่สุดสามประการ คือทำให้ 1) เป็นประวัติศาสตร์ศิลปะที่ไม่มี “ประวัติศาสตร์” 2) เป็นประวัติศาสตร์ศิลปะที่ไม่มี “ศิลปะ” และ 3) เป็นประวัติศาสตร์ศิลปะที่ว่าด้วย “ศิลปะในประวัติศาสตร์” เท่านั้น

ในลักษณะแรกนั้น ก็คือว่า วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะของคณะโบราณคดี เป็นวิชาที่ไม่มีประวัติความเป็นมาหรือไม่มีต้นกำเนิด ดังที่ไม่ปรากฏว่ามีการสอนวิชาประเภท “ประวัติศาสตร์ศิลปะเบื้องต้น” หรือ Introduction to the History of Art เลย ในขณะที่วิชาในสายสังคมศาสตร์/มนุษย์ศาสตร์อื่นๆ ตั้งแต่ประวัติศาสตร์ มานุษยวิทยา วรรณคดี หรือแม้แต่โบราณคดีเอง มีการกล่าวถึงประวัติแนวคิด ปรัชญา ทฤษฎีในการศึกษากันเสมอๆมาตั้งแต่แรกเข้าเรียน ทว่าประวัติศาสตร์ศิลปะของโบราณคดีกลับใช้รายวิชา ศิลปะในประเทศไทย และ ศิลปะในประเทศใกล้เคียง เป็นเสมือนวิชาเบื้องต้นแทนไปเลย

จะว่าวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไม่มีประวัติทฤษฎีก็คงไม่ใช่ แพราะแม้แต่ในห้องสมุดที่ศิลปากรเอง ก็จะหาหนังสือประเภทนี้ได้ไม่น้อย และในโลกวิชาการแล้ว กระแสทางทฤษฎีต่างๆก็ส่งผลสะเทือนถึงวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะด้วยเสมอมา ไม่ว่าจะเป็นแนวทางมาร์กซิสต์ เฟมินิสม์ ตลอดจนถึงโพสต์โมเดิร์น (หรือโพสต์โคโลเนียลยุคหลังอาณานิคม) หากแต่ประวัติศาสตร์ศิลปะของศิลปากรก็กลับเป็นเหมือน “อกนิษฐ์พรหม” ที่ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องไม่ถึง” ทำเสมือนว่าความรู้ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่อง “อกาลิโก” เป็นสิ่งสัมบูรณ์ในตัวเอง ไม่ต้องมีแนวคิดทฤษฎีอะไรก็ศึกษากันไปได้

ในลักษณะที่สอง คือเป็นประวัติศาสตร์ศิลปะที่ปราศจาก “ศิลปะ” หรือการให้ความสนใจในความงาม ประวัติศาสตร์ศิลปะในสำนักนี้จะถูกห้ามขาดมิให้สนใจในเรื่องความงามหรือเรื่องของสุนทรียะ ทั้งๆที่เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในการสร้างงานศิลปะ ความพยายามที่จะเข้าใจศิลปะโดยไม่สนใจความงามจึงเป็นเรื่องคล้ายๆกับการเกลียดปลาไหลกินน้ำแกง(ประเด็นนี้ ใครที่สนใจก็อาจวิสาสะกับดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ กวีสาวและดุษฎีบัณฑิตทางประวัติศาสตร์ศิลปะจาก สวิส ผู้ซึ่งเคยมีวิวาทะกับอาจารย์ในภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะมาแล้วได้)

ส่วนลักษณะที่สาม ก็คือประวัติศาสตร์ศิลปะของศิลปากรมักเป็นประวัติศาสตร์ศิลปะที่ว่าด้วย “ศิลปะในประวัติศาสตร์” เท่านั้น การเรียนส่วนใหญ่เป็นแต่เรื่องของศิลปะโบราณ นั่นก็คือสนใจแต่เรื่องผลงานของศิลปินที่ตายแล้วเป็นหลัก (โดยไม่ค่อยใส่ใจกับตัวศิลปินด้วยซ้ำ) จริงอยู่ แม้ว่าในระยะหลังอาจมีความสนใจในศิลปินร่วมสมัย หรือกิจกรรมทางศิลปะที่ร่วมสมัยขึ้น (เช่นงานด้านหอศิลป์) แต่ก็ยังนับว่าเป็นส่วนน้อยอยู่ และเป็นลักษณะความสนใจเฉพาะตัวของผู้สอนมากกว่าจะเป็นทิศทางของการเรียนการสอนจริงๆ

ลักษณะทั้งสามประการนี้ เราท่านย่อมหาไม่พบในการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนแห่งอื่นๆ หากแต่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะของคณะโบราณคดีเท่านั้น เพราะการที่ไม่ต้องมีทฤษฎีก็ดี การที่มุ่งเน้นแต่ศิลปะโบราณก็ดี รวมทั้งการที่ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่นนอกจากการกำหนดอายุ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นรูปปรากฏของการเป็น “ติ่ง” ของวิชาโบราณคดีแบบศิลปากรทั้งสิ้น เพราะสิ่งที่พรรณนามาทั้งหลายทั้งปวงนี้ ก็คือหน้าที่เท่าที่นักโบราณคดีต้องการให้วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะกระทำสำหรับตน ดังที่คุณรุ่งโรจน์ได้กล่าวสรุปไว้ว่า “ผลการศึกษาเหล่านี้ (คือด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ) นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการศึกษาของตน…ได้เป็นอย่างดี”

และหากเราทดลองปักใจเชื่อคุณรุ่งโรจน์ว่าประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของวิชาโบราณคดีแล้ว ก็อาจแทนที่คำว่าประวัติศาสตร์ศิลปะในบทความของอาจารย์ศักดิ์ชัย ด้วยคำว่าโบราณคดีได้ทั้งหมด โดยนัยนี้ข้อความของอาจารย์ศักดิ์ชัยที่ว่า “ภาพพจน์ของภาควิชาฯมักออกมาในรูปของการท่องจำ การเรียนที่เป็นแบบแผนตายตัว จำให้ได้ตามอาจารย์ผู้สอน” ก็ต้องหมายรวมเอาการเรียนการสอนทางโบราณคดีด้วย ดังนั้นปัญหาว่าด้วยเรื่องการเรียนการสอนที่อาจารศักดิ์ชัยอ้างถึง จึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะของท่านแล้วละครับ

แนวทางใหม่” ไม่ว่าจะเป็นของอาจารย์ศักดิ์ชัยหรือแนวทางใดๆนั้น อย่างไรเสียก็คงเกิดขึ้นได้ยากหากยังไม่สลัดพันธนาการที่เป็นเหมือน “แอกทางประวัติศาสตร์” ของภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะออกเสียก่อน

 

 

4 comments on “ประวัติศาสตร์ศิลปะ โบราณคดี และ “แนวทางใหม่” การวิพากษ์การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ

  1. เปรี้ยว พูดว่า:

    บทความข้างต้นเรื่อง “..แนวทางใหม่ในการวิพากษ์การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะ” หลายส่วนเป็นเรื่องที่พูดได้ถูก เช่น เรื่องไม่มีการสอนทฤษฎีเรื่องประวัติศาสตร์ศิลปะ และสิ่งที่พยายามเสนอแนวทางใหม่ๆ เพื่อเปิดแนวทางการสอน ปัญหามันอยู่ที่ตรงนี้ครับคือ ต้องมองอะไรหลายๆ ด้านก่อนที่จะทำการวิจารณ์ ในทัศนะของผมจึงพยายามชี้ให้เห็นหลายๆ สิ่ง

    ด้านที่หนึ่ง

    ถูกต้องอย่างที่วิพากษ์ว่าไม่มีการสอนเรื่องของทฤษฎีทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ และประวัติศาสตร์ศิลปะที่สอนอยู่ทุกวันนี้ก็มองอะไรแบบ Unilinear เกินไป จนทำให้ไม่เห็นความหลากหลาย การสอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะพื้นบ้านยังไม่เคยมีการนำเสนอ ทั้งๆ ที่มีความสำคัญพอกับประวัติศาสตร์ศิลปะสมัยต่างๆ ของไทย ซึ่งมีรากกำเนิดจากการพยายามสร้างรัฐชาติ รวมถึงประวัติศาสตร์ศิลปะในคณะโบราณคดีหรือแม้กระทั่งคณะโบราณคดีเองก็ถือกำเนิดจากเป้าหมายของรัฐชาติ และมรดกแบบอาณานิคม หรือในแนววิพากษ์แบบสกุลหลังอาณานิคมนั่นเอง

    การศึกษาประวัติศาสตร์ศิลปะในแนวของคุณเพ็ญ หรือการศึกษาเรื่องสุนทรียศาสตร์ เป็นแนวทางที่ดีนะครับ แต่มันสามารถถูกวิพากษ์ได้อย่างหนักเช่นกันคือ หากคุณมองในแนวของวิทยาศาสตร์ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่สามารถถูกปฏิเสธทันที เพราะมันไม่สามารถพิสุจน์ได้ แต่ถ้าหากเป็นแนวสังคมหรือแนวศิลปะอันนี้เป็นไปได้ แต่ก็มีกระแสว่าหากได้แล้วความเป็นอัตตาคนจะลดได้หรือเอาเกณฑ์อะไรมาตัดสิน และมันยังเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศภาวะด้วย

    ด้านที่สอง

    แม้ว่าประวัติศาสตร์ศิลปะจะเป็นส่วนหนึ่งของโบราณคดี ก็ไม่ได้เป็นเรื่องผิดอะไร และหากคุณเข้าใจมันก็จะพบว่าประวัติศาสตร์ศิลปะได้แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาอย่างชัดเจน สิ่งที่คุณพยายามเน้นคือ การจัดลำดับยุคสมัยของหลักฐานที่พบ แต่นั่นไม่ใช่เป้าหมายหลักหากคุณเข้าใจ จนทำให้ผมมองว่าคุณมองอย่างผิวเผินเกินไป เพราะเป้าหมายคือ การเข้าใจลำดับยุคสมัยมันจะทำให้เข้าใจได้ถึงพัฒนาการทางด้านสังคมวัฒนธรรม รวมถึงความเชื่อมโยง การติดต่อปะทะสังสรรค์ของชุมชน เมือง หรืออาณาจักรต่างๆ ผ่านรูปแบบทางศิลปะ (ซึ่งก็คือหลักฐานทางโบราณคดีประเภทหนึ่ง)
    และที่คุณต้องทำความเข้าใจใหม่ทั้งหมดคือ โบราณคดีคืออะไร อันนี้ต้องไปคบคิดให้แตก เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว จะไม่สามารถก้าวข้ามไปสู่การศึกษาในสาขาอื่นได้เลย โบราณคดีจะกลายเป็นสิ่งที่หยุดนิ่งตายตัวทันที

    ความเป็นตัวของตัวเองของประวัติศาสตร์ศิลปะนั่นมีอยู่ คุณลองคิดดูหากคุณไปศึกษาเจดีย์สักแห่งโดยไม่มีจารึกใดๆ นักประวัติศาสตร์ศิลปะสามารถกำหนดอายุ และบรรจุเรื่องราวที่เป็นบริบททางประวัติศาสตร์ได้

  2. ขอบคุณค่ะสำหรับข้อมูลที่ดีและมีประโยชน์

  3. Ganry65 พูดว่า:

    Have you done any other good stuff lately? ,

  4. mayom พูดว่า:

    สุนทรีศาสตร์ในประวัติศาสตร์ศิลปะ มันมีอยู่แล้วครับ แต่อยู่ที่ว่าคุณมองเห็นมันรึเปล่า

การแสดงความเห็นถูกปิด