‘เอมี่ โชติรส’ : การ’ฆาตกรรมอนาคตหญิงสาว’ ด้วยอำนาจแห่ง ‘คำพิพากษา’

ปรากฏการณ์หลังประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ครั้งที่ 16 สิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงมากกว่าเรื่องใครได้หรือไม่ได้รับผลรางวัลกลับกลายเป็นเรื่องการแต่งชุดหวือหวาของดาราเสียมากกว่าโดยเฉพาะกรณีของ ‘น้องเอมี่ โชติรส’ถึงขนาดที่ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้มีศีลธรรมทางผิวหน้าบอบบางมากๆทนไม่ได้กับการที่ น้องเอมี่ นักศึกษา ‘ธรรมศาสตร์’ ต้องเป็นขี้ปากของสังคมในเรื่องการแต่งตัวจนต้องออกมากรี๊ดกร๊าดรับลูกและขยายความประเด็นให้ใหญ่โตขึ้นด้วยการยืนยันกับ ‘สื่อมวลชน’ ฐานันดรหนึ่งของสังคมที่ไม่รู้จะขายเรื่องอะไรอยู่แล้วว่าให้รองอธิการบดีหนุ่ม ปริญญา เทวานฤมิตรกุล เรียกน้องเอมี่มาพบ สุดท้ายมีการตักเตือนและให้ไปรับใช้สังคมด้วยการอ่านหนังสืออัดลงเทปให้ผู้พิการทางสายตายฟัง(วิธีการลงโทษน่ารักดี อย่างน้อยก็ดีกว่าให้ไปทำนา สงสารกลัวน้องเอมี่เหนื่อย)เพราะความหน้าบางทางศีลธรรมของอธิการบดีฉายาแสบสนิทศิษย์ส่ายหน้า(อ้างจาก Visible Man ประชาไท ประจำปี 2549) เรื่องเล็กๆที่จำกัดอยู่เพียงสังคมซุบซิบนินทาก็ขยายตัวกลายเป็นเรื่องระดับสังคมขึ้นมาทันที เนื่องจากการพูดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่ากับน้ำหนักการพูดที่บวกด้วยเกียรติภูมิทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งแต่การที่เคยมีคำว่า ‘และการเมือง’ พ่วงท้ายในสมัยแรกก่อตั้งโดย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้มีส่วนสำคัญในการเปลี่ยนประเทศจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยในเชิงหลักการอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (ผมยังไม่ยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงใน พ.ศ. 2475 คือการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสู่การปกครองโดยทหารกลุ่มหนึ่งอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตย 14 ตุลา 16 การสูญเสียใน 6 ตุลา 19 รวมทั้งเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่รองอธิการปริญญาก็เป็นหนึ่งในผู้มีส่วนสำคัญใสมัยยังเป็นนักศึกษาที่รักสิทธิเสรีภาพ ประวัติศาสตร์เหล่านี้ตกผลึกจนกลายเป็นวาทกรรมเรียกขานมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างเลื่องลือไปทั่วว่า ‘ในธรรมศาสตร์มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว’ในความภาคภูมิใจนั้นของบรรดาคนธรรมศาสตร์ ผมสัมผัสได้ดีจากการชิดใกล้และร่วมทำงานมาระยะหนึ่ง(ผมไม่ใช่คนธรรมศาสตร์) แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่าเพื่อนๆพี่ๆของผมเหล่านั้นกำลังงงกับสิ่งที่เปลี่ยนไปในธรรมศาสตร์หรือไม่ หรือกำลังคิดว่ามองหาเสรีภาพจากนิ้วไหนดีระหว่างนิ้วมือกับนิ้วตีน(ฮา)เพราะความจริงแล้วเวลานี้ สิทธิเสรีภาพในธรรมศาสตร์กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมมากขึ้นหลายกรณี จะขอกล่าวถึงเฉพาะกรณีล่าสุดนี้ว่าการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยที่มีพลังในการชี้นำและมีความคาดหวังสังคมสูงเช่นนี้ลงมาวิพากษ์วิจารณ์กรณีการแต่งตัวอันเป็นสิทธิส่วนบุคคลคนหนึ่งที่กำลังทำมาหากินโดยอาชีพสุจริตเพียงแต่บวกความเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเข้าไปโดยใช้ภูมิหลังของสถาบันที่มีต่อสังคมมาเป็นประเด็นสำคัญในการเอาผิด วิธีการนี้กำลังเป็นการ ‘ฆาตกรรมอนาคต’ ของหญิงสาวคนหนึ่งหรือไม่น้องเอมี่ที่น่ารักเพียงแต่แต่งตัวในชุดที่มีดีไซน์ของตัวเองโดยมีแรงบันดาลใจจากแฟชั่นตะวันตก รัดกุมในส่วนที่พึงรัดกุมและระวังตัวไม่หลุดในจุดที่ปาปารัชซี่จับจ้อง แสดงออกด้วยความกล้าคิดนอกกรอบในที่สาธารณะอันเป็นพื้นที่ของวงการบันเทิงไม่ใช่พื้นที่อย่างมหาวิทยาลัย(สวยหรือไม่เป็นอีกเรื่อง เพราะการมองความงามเป็นประเด็นทางสุนทรียศาสตร์ที่แต่ละคนมีวิธีมองต่างกัน) หากมองในด้านที่เป็นอาชีพดารานักแสดงก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะใส่ชุดให้เป็นจุดสนใจไปร่วมในงานบนพื้นที่ของวงการบันเทิง ในขณะที่ในยามปกติเพื่อนๆเธอก็บอกว่าเอมี่จะใส่ชุดนักศึกษาที่ดูเรียบร้อย นิสัยเฟรนลี่ และออกจะตั้งใจเรียนเสียด้วย

แต่เพียงเพราะสังคมซุบซิบนินทาในความหวือหวาของชุดที่ผ่านกระบวนการคิดสร้างสรรค์ นอกกรอบของเอมี่เท่านั้น มหาวิทยาลัยที่เธอเรียนจึงจัดการบูชายันเพื่อสังคมทันทีโดยไม่ได้มองว่า การกล้าคิดนอกกรอบในฐานะเด็กนักศึกษาคนหนึ่งที่ผ่านร้อนหนาวเลย 20 ปีมาไม่กี่มากน้อยนี้ ทางมหาวิทยาลัยจะส่งเสริมหรือขัดเกลาอย่างไรให้เป็นประกายงดงาม การออกมาตัดสินด้วยวิธีคิดตามแบบเรียน ‘เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่ 10 อย่าง’ ผ่านสื่อโดยตรงและทันทีแทนการพูดคุยถกเถียงเป็นมุมมองกันภายในที่ทำได้ด้วยอาจารย์ที่สอนน้องเอมี่อยู่แล้ว เส้นทางนี้คือการดับการกล้าคิดอย่างเสรีทันที ในสังคมวิชาการระดับมหาวิทยาลัยถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ในอีกประเด็นหนึ่ง มหาวิทยาลัยไม่ได้มองว่าการนินทาในสังคมไทยเป็นการควบคุมทางสังคมแบบหนึ่งอยู่แล้ว(อ้างจากนิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่รู้ตอนไหน เล่มไหน จำได้ว่าเคยพูดก็แล้วกัน) การตัดสินใจออกมามีบทบาทเป็นผู้พิพากษาทางศีลธรรมของธรรมศาสตร์กลับไม่ได้ต่างอะไรกับการย้อนยุคไปสู่ยุคมืดในยุโรปที่นำศาสนามากำจัดศัตรูของศาสนจักรและอาณาจักรที่ร่วมมือกันในเกือบทุกๆด้านในฐานะผู้มีอำนาจนำสูงทางสังคม(ยุคหนึ่งนักวิทยาศาสตร์ที่คิดนอกกรอบศาสนาอันอธิบายด้วยศีลธรรมคือพ่อมดแม่มด สามารถฆ่าได้โดยไม่บาปแม้แต่การเอาลิ่มไม้ตอกอกหรือเผาไฟทั้งเป็น) การกระทำนี้จึงไม่ใช่การกระทำที่มีศีลธรรมแต่กลับเป็นเรื่องไร้ศีลธรรมเสียมากกว่า ทั้งยังไม่ได้ทำหน้าที่ในการอธิบายหรือสร้างสรรค์อะไรให้สังคมไทยเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นการย้ำวาทกรรมของเผด็จการเก่าๆให้นำประเด็น ‘ศีลธรรม’ มาเป็นเครื่องมือในการควบคุมไม่ให้เกิดการคิดนอกกรอบที่อธิบายได้ด้วยผู้อำนาจทั้งที่ ในกรณีน้องเอมี่ที่น่ารัก เพียงการซุบซิบนินทาน่าจะทำหน้าที่กับสังคมได้พอแล้วไม่ต้องให้พลังในการชี้นำทางสังคมต้องมาร่วมอธิบายอย่างทำร้าย ‘ลูกศิษย์’ ตัวเองทราบมาว่าทำร้ายถึงขนาดการใช้วิธีการ ‘ข่มขืนซ้ำ’ แบบกระบวนการยุติธรรมไทยมาสอบสวน ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ที่ต้องอธิบายทุกขั้นทุกตอนว่าป้องกันแบบไหนอย่างไรแล้วก็จับมาแถลงข่าวให้โชว์ว่าป้องกันแล้วยังไงๆกี่ชั้นๆ ตรงไหนบ้าง ชวนให้คิดภาพตามกันวุ่นวาย ไม่รู้ว่าตอนนั่งฟังรองอธิการปริญญาจะอยู่ในอารมณ์แบบใด หรืออยากจะเป็นคนตาบอดให้น้องเอมี่พูดให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ไม่ทราบ การใช้วิธีนี้มันน่าจะเป็นการ harassment โดยตรง ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมมหาวิทยาลัยอันเป็นสถาบันที่ต้องสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เป็นพันธกิจหลักแห่งสังคมจิตใจของหญิงสาวควรเป็นสิ่งที่ต้องทนุถนอมดุจกลีบดอกไม้ที่บอบบางแต่สวยงาม ดุจหยกใสที่เยือกเย็นทอประกายคุณค่าแต่เปราะบางแตกหักง่ายยามกระทบความแข็ง น้ำตาแต่ละหยดของหญิงสาวจึงมีความหมายที่พึงตระหนักคิด เพราะน้ำตาแม้เพียงไม่กี่หยดล้วนออกมาจากความสะทกทะท้อนภายในทั้งสิ้น ผมไม่ได้เห็นเอมี่หลั่งน้ำตากับตาแต่พอจะนึกรู้สึกสัมผัสได้ยามรับฟังใครคนหนึ่งบอกเล่าว่าเธอร้องไห้หลังเดินออกมาจากห้องสอบสวนของอาจารย์…ใครจะนึกถึงบ้างว่าที่ผ่านมาเธอใช้ความเข้มแข็งแบบใดในการเป็นนักศึกษาที่ต้องทำทั้งการเรียนให้ดีพร้อมๆไปกับการทำงานในโลกแสงสีมายา หลังจากวันนี้ที่เธอพบกับความจริงที่เป็นมายาของคนรอบตัว เธอจะเดินต่อแบบไหน เอาเป็นว่าผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้จักเธอเลยสักนิดแต่จะเป็นกำลังใจให้ในฐานะที่เราทุกคนต่างก็กำลังร่วมชะตากรรมในการโดนสังคมนี้ทำร้ายเฉกเช่นเดียวกันในสังคมไทยหรือแม้แต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คำว่า ‘สิทธิเสรีภาพ’ คืออะไรกันแน่ แต่มันจำเป็นหรือที่ต้องให้อำนาจใครมากำหนด สำหรับผม การซุบซิบนินทาอาจจะเป็นการควบคุมทางสังคมที่ดีกว่าการพิพากษาทางศีลธรรมของมหาวิทยาลัยที่ได้รับการยกย่องว่ามี ‘เสรีภาพ’ ทุกตารางนิ้วทำเป็นแน่ผมเคยไปหาเพื่อนหรือทานเหล้าในงานบางงานของธรรมศาสตร์หลายครั้ง บางทีก็เผลอนั่งมองนวลอนงค์แน่งน้อยเดินไปมา บางอนงค์แช่มช้อยแต่ไม่หวือหวา บางอนงค์หวือหวาแต่ไม่แช่มช้อย บางอนงค์งามทั้งแช่มช้อยและหวือหวา ทั้งหมดล้วนจำกัดความได้ทั้งอยู่ในชุดนักศึกษาและไม่ใช่ (ขอพูดเฉพาะผู้หญิงเพราะไม่เคยนั่งมองผู้ชายเดินไปมา) และทั้งหมดล้วนจำกัดความได้ว่าหวือหวาหรือไม่หวือหวาไปกว่าชุดที่น้องเอมี่ใส่ไปวันงานสุพรรณหงส์ได้เช่นกัน ผมกำลังจะบอกว่าในชีวิตปกติ สังคมหรือคนรอบข้างเราจะเป็นผู้สะท้อนผู้สวมใส่ชุดเหล่านั้นอยู่แล้ว แต่จะสวมใส่อย่างไรนั้นผู้สวมใส่ควรเป็นผู้ตัดสินใจเอง เพราะบางชุดมันขึ้นกับว่าจะยอมรับการเสียดทานของสังคมได้แค่ไหนแบบใด (สมัยผมเรียนชุดโคตรรัดกุมเลย แต่ไม่ใส่ชุดนักศึกษาไปเรียน เสื้อแถมตลอดเผื่อจะมีบริษัทไหนให้เงินค่าโฆษณาสินค้า สกปรกนิดๆ ติสท์หน่อย กางเกงเปื้อนสีและไม่ค่อยซักเพราะมีตัวเดียว เหม็นอับบ้าง ผมยาวเกือบกลางหลัง ฝ่าตีนดำเพราะไม่มีตังซื้อรองเท้าผ้าใบแต่ตัดเล็บเท้าเพื่อความสะอาด สระผมทุกวัน คนภายนอกมหาวิทยาลัยบอกว่าเซอร์ แต่เพื่อนมันด่าทุกวันว่าโส โครกจะไปเข็นผักปากคลองหรือจะมาเรียนวะ ผมก็ยังทำแบบนั้นมาจนจบ และบางทีก็ติดนิสัยมาในที่ทำงานตอนนี้ด้วย)ผมยืนยันมาตลอดๆกับหญิงสาวที่รู้จักกันรอบๆตัวว่า “แต่งหวิวมาพี่ก็ดูนะน้อง…หึๆๆ” ส่วนน้องก็จะว่า “ไม่ได้ใส่มาให้ดูนะพี่ มันเป็นแฟชั่น” นานาจิตตังว่าผมจะโรคจิต หรือน้องจะเซ็กซี่ก็ว่ากันไป (ไปงานกิฟท์ที่ศิลปากรมา แฟชั่นที่ผมชอบเพียบเลยยยย) ดังนั้นขอร้องเถอะ อย่ามาออกคำสั่งหรือชี้นำด้วยอำนาจในเรื่องนี้เลยดีกว่า…. วัยรุ่นเซ็ง เซ็งสาดดด เซ็งเป็ดดดดด !!!!ความจริงแล้ผมตั้งใจจะไม่เขียนเรื่องนี้เพราะหลายคนบอกว่าไม่ควรจะพูดถึงเรื่องนี้อีก เพราะน้องเอมี่คือผู้ที่ได้รับผลกระทบเพียงคนเดียวไม่ว่าเราจะพูดในทางบวกหรือลบก็ตาม ในเบื้องแรกผมเห็นด้วย แต่ ณ วันนี้ด้วยความที่สถานการณ์มันไปแรงมากเหลือเกิน จึงคิดว่าบางความเห็นของผมจะเป็นเสียดทานบางอย่างได้บ้าง อย่างน้อยก็จะได้มีคนมาด่าหรือถกเถียงกับผมแทน นอกจากนี้อาจด้วยความหวังเล็กๆน้อยๆแม้จะเป็นจริงได้ยากคือ บทความนี้อาจเป็นประกายให้มีการตั้งคำถามทางศีลธรรมไปถึงกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยเสรีภาพทุกตารางนิ้วมากขึ้นจะได้เข้ากับวาทะเด็ดของท่านที่ว่า “เราไม่ลงนรก เป็นผู้ใดลงนรก” จะได้สมใจท่านเสียทีอย่าลืมว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองตั้งขึ้นมาบนหลักการแห่งประชาธิปไตย แต่การพูดและทำงานรองรับในอำนาจการทำรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นพฤติการณ์ที่สวนทางกับหลักการแห่งก่อตั้งทั้งสิ้น ต้านไม่ได้ก็นิ่งเฉยเสียยังดีกว่า ผมในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมคิดว่าการคาดหวังของสังคมที่มีต่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์น่าจะเป็นเรื่องหลักการที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าการตามจับผิดนักศึกษาสาวแบบนี้…เรื่องแบบนี้ปล่อยให้แค่กระทรวงวัฒนธรรมบ้าไปกระทรวงเดียวก็พอแล้วครับ

ขุนพลน้อย 17 ก.พ. 50

7 comments on “‘เอมี่ โชติรส’ : การ’ฆาตกรรมอนาคตหญิงสาว’ ด้วยอำนาจแห่ง ‘คำพิพากษา’

  1. girl friday พูดว่า:

    เราเป็นคนหนึ่งที่พูดว่า ไม่อยากให้พูดเรื่องเอมี่อีก ไม่ว่าจะในแง่ใด

    ตอนนี้กำลังสงสัยและสนใจว่า เพราะอะไร คนจึงให้ความสนใจต่อเรื่องนี้มากเหลือเกิน

  2. thongnoi พูดว่า:

    เรื่องผู้หฺญิงกับเรือนร่างเป็นเรื่องที่คนสนใจมานานแล้วจ้า บังเอิญครั้งนี้มีสถาบันอันทรงเกียรติกรุณามาสนใจเป็นพิเศษก็ยิ่งกลายเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางขึ้น แต่อาทิตย์หน้าคงไม่แล้วแหล่ะ เพราะเรื่องราวในโลกมักเป็นเช่นี้

  3. Tomboy พูดว่า:

    Aj Prinya has to apologise Miss Emmie in the next Press Con. He looks so stupid to do that

  4. Mr. Marshmallows พูดว่า:

    อาจเป็นเพราะล้ำเส้นของกาละเทศะมากไปนิดนึงมั๊งครับ

  5. ขุนพลน้อย พูดว่า:

    ถ้าเรื่องกาละเทศะอาจารย์พูดคุยตักเตือนกันภายในก็ได้นะผมว่า อิอิ

  6. หนูหมู พูดว่า:

    ชอบหัวข้อของคุณมากค่ะ โดนจริง ๆ

  7. jitpan พูดว่า:

    ผมดูภาพข่าวทีวี น้องเค้าต้องมาร้องไห้ ยกมือไหว้นักข่าว ขอโทษประชาชน รู้สึกว่า อีแค่เรื่องการแต่งตัวสุดท้ายต้องกราบขอขมากันขนาดนั้น

การแสดงความเห็นถูกปิด