ความห่วงใยจากคนโบราณคดีถึง ‘แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน’

ขณะที่ยังงัวเงียเมื่อเช้านี้ สหายท่านหนึ่งโทรมาแต่เช้าด้วยน้ำเสียงวิตกและดูหงุดหงิดเล็กน้อยหลังจากรู้ว่าภูเขาเทือกเดียวกับ แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียนกำลังถูกบริษัทเอกชนขอสัมปทานระเบิด

ส่วนผมเมื่อแรกรับโทรศัพท์ไม่รู้เรื่องอะไรก็ว่าจะกลับไปนอนต่อ แต่พอฟังเรื่องแล้วก็หูผึ่งเหมือนกัน

เรื่องมันมีอยู่ว่า เวลานี้บริษัทระเบิดหินเอกชนแห่งหนึ่งกำลังขอสัมปทานรัฐเข้าไประเบิดภูเขาลูกหนึ่ง(ทั้งลูก) ในจังหวัดกระบี่ แน่นอนว่าตามหลักการต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน ไปไปมามา ผลสำรวจออกมาว่าเป็นไอ้เขาลูกเดียวกับ แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียนมรดกทางวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ต้องอนุรักษ์ ดังนั้นตามหลักการเช่นกันจึงต้องมีการสำรวจทางโบราณคดีก่อนว่าสามารถทำสัมปทานระเบิดหินบนเขาลูกนี้ได้หรือไม่ หรือมีความสำคัญเพียงพอที่จะต้องอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ

แต่ที่น่าติดใจคือ เมื่อบริษัททำเรื่องไปทางกรมศิลปากรก็ปรากฏคำตอบที่คุ้นเคยตามประสาราชการแบบไทยๆว่า ไม่มีงบประมาณเอาล่ะซี เงินเป็นล้านๆ แม่งไม่ยอมสำรวจให้ บริษัทเอกชนมีหรือจะยอมปล่อยอ้อยที่อยากจะเคี้ยว ดังนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตามผลการสำรวจทางโบราณคดีต้องมีขึ้น แน่นอนกฎหมายก็เปิดช่องให้สามารถจ้างบริษัทโบราณคดีเอกชนโดยมีนักโบราณคดีเป็นผู้ควบคุมการสำรวจได้และนำรายงานการสำรวจทางโบราณคดีนั้นมาการันตีว่าสามารถระเบิดเขาได้

แบบนี้คาดผลออกใช่หรือไม่ว่าผลการสำรวจจะออกมาแบบใด ในเมื่อบริษัทที่ต้องการสัมปทานมาเป็นผู้ว่าจ้างสำรวจทางโบราณคดีเอง

จริงอยู่เท่าที่ทราบมา นักโบราณคดีที่ลงไปขุดแหล่งโบราณคดีต่างๆหรือนักโบราณคดีภาคสนามจะมีลักษณะคล้ายๆกันทางวิธีคิดที่ว่าในทุกแหล่งโบราณคดีจะต้องใช้วิชาความรู้และกระบวนการทางโบราณคดีที่ครบถ้วน ตรงไปตรงมาตามหลักจรรยาบรรณและวิชาชีพ(ที่ไม่มีสมาคมรับรองความเป็นวิชาชีพ) แต่ความเป็นจริงสำหรับสังคมไทย รายงานการสำรวจขุดค้นทางโบราณคดีไม่มีความหมายอะไรมากกว่าการจ้างทำหนังสือหนาๆมีรูปเยอะๆเล่มหนึ่งแล้วก็เอาไปเก็บไว้ตรงส่วนไหนก็ไม่รู้ในซอกหลืบอาคารกรมศิลปากร และมันจะมีความหมายมากกว่านี้ได้อย่างไรในเมื่อบางทีคนในแวดวงโบราณคดีเองก็ยังอ่านรายงานทางโบราณคดีไม่รู้เรื่อง มิพักคนทั่วไปอย่างเราๆท่านๆจะรู้เรื่องได้อย่างไรว่าสำคัญหรือไม่หากไม่แปลความออกมาซึ่งหึๆๆๆ คนในวงการโบราณคดีก็ไม่ค่อยจะมีใครแปลความมาเป็นองค์ความรู้ให้สังคมวงกว้างสักเท่าไร

ความไม่รู้เป็นจนไม่มีองค์ให้สังคม ก็คือกระดาษหนาที่เป็นประโยชน์กับผู้รู้จักทำธุรกิจ คงรู้ๆกันอยู่ว่าการลงทุนในลักษณะสัมปทานทรัพยากรธรรมชาติต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้น บริษัทต่างๆที่ทำธุรกิจด้านนี้ต้องการแค่ให้มีผลสำรวจต่างๆ เช่น ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความสำคัญทางโบราณคดี ออกมาเป็นหนังสือหนาๆแต่อ่านไม่รู้เรื่องตามระเบียบราชการเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายเท่านั้นเอง ส่วนผลสำรวจนั้นจะออกมาอย่างไรไม่ใช่เรื่องที่ต้องเสียแรงใส่ใจ

เพราะสิ่งที่บริษัทนักลงทุนต้องเสียแรงและต้องใส่ใจทำอย่างเป็นเรื่องปกติก็คือการไปวิ่งเต้นข้าราชการตัวโตๆ ให้อนุมัติผ่านโครงการโดยอ้างจากรายงานการสำรวจที่ไม่มีอะไรสำคัญอยู่เสมอ(หินก้อนหนึ่งถูกกระเทาะโดยใครไม่รู้เมื่อหลายล้านปีก่อนมันจะสำคัญสู้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบนกระดาษสีออกเทาๆม่วงๆหลายๆใบได้อย่างไร) ดังนั้นเงินไม่กี่ล้านบาทผ่านมือสู่ข้าราชการที่ปกติเข้าเกียร์ว่างให้เข้าเกียร์หนึ่ง สอง สาม ในโครงการหลายร้อยหลายพันล้านบาทมัน โอ….มันช่างคุ้มค่านัก

กรณีที่กำลังจะเกิดที่จังหวัดกระบี่นี้ เป็นอีกครั้งหนึ่งที่วงการโบราณคดีควรต้องจับตากันต่อไปว่าจะมีทิศทางใด ขณะเดียวกันคงต้องทบทวนจริงๆจังๆสักครั้งว่าจะให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรือ ในเมื่อระบบโครงสร้างราชการไทยนั้นขาดความน่าเชื่อถืออย่างรุนแรงแต่มีอำนาจอย่างรุนแรงเช่นนี้

ในสังคมโบราณคดีนั้นขาดการเช็คแอนบาลานซ์ความจริงทางโบราณคดีในโครงการต่างๆ พูดได้ว่าแทบไม่มีให้เห็นเลยทีเดียว ทั้งๆที่หากพิจารณาคุณภาพในทางวิชาการแล้วนักวิชาการโบราณคดี ในสถาบันการศึกษาอย่างคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรนั้นมีเพียงพอที่จะสามารถคัดคานบางเรื่องได้ด้วยหลักการในฐานะเสาหลักทางวิชาการที่มีความเป็นสถาบันรองรับอย่างเป็นทางการ

แต่ทำอย่างไรเสาหลักทางวิชาการโบราณคดีจะออกมาเป็นเสาหลักจริงๆได้เสียที ในรอบ 50 ปีที่ผ่านมานี้แทบเรียกได้ว่า ปรากฏการณ์แบบนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้น อาจจะมีบ้างในกรณีเขาพระวิหาร หรือ ทับหลังนารายณ์บรรทมศิลป์ เมื่อเป็นสิบๆปีก่อน แต่หลังจากนั้นมาก็ไม่เคยมีนักวิชาการคณะโบราณคดีออกมาทำงานคู่ขนานไปกับสิ่งที่กรมศิลปากรรับผิดชอบจนทั้งสังคมมองเหมือนกับไปในเนื้อเดียวกันกับกรมศิลปากร ทั้งที่ หน้าที่ในฐานะนักวิชาการมีความสำคัญมากในการตรวจสอบอย่างจริยธรรมทางวิชาการของผู้ใหญ่ในกรมศิลปากรและผู้บริหารบ้านเมือง การเป็นเสาหลักประวัติศาสตร์ให้สังคมไทยที่แท้จริงนั้นจึงมีความสำคัญ

ผมคงไม่ถึงขั้นเรียกร้องให้นักวิชาการคณะโบราณคดีทุกคนต้องออกมาทำอะไรทุกกรณี เพียงแต่อย่างน้อยๆการสนใจติดตามพูดถึงอย่างดังๆให้สังคมได้คิดในกรณีที่เป็นประเด็นสุ่มเสี่ยงทางประวัติศาสตร์ การชวนนักศึกษาขบคิดเกี่ยวกับรายงานผลสำรวจต่างๆ การทำหนังสือโต้แย้ง คัดค้าน การอนุมัติโครงการต่างๆของรัฐและกรมศิลปารกรก็ควรมีขึ้นเพื่อสร้างบรรยากาศทางวิชาการใหม่ในสังคมโบราณคดีให้เกิดขึ้น เป็นต้น

บางสิ่งบางอย่างที่หายไปจากสังคมโบราณคดีควรถูกฟื้นอย่างจำเป็น จำได้ว่าในอดีตนักศึกษาโบราณคดีก็สามารถทำโครงการของบประมาณในการเก็บข้อมูลพื้นที่โบราณคดีต่างๆได้ทั้งในส่วนของนักศึกษาคณะโบราณคดี หรือในส่วนของชมรมอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่ตั้งขึ้นมาอย่างยาวนานเพื่อทำงานทางด้านนี้ในช่วงดำริเริ่มชมรม(ฟังคนอื่นเขาเล่ามา) ดังนั้น หากต่อไปจะมีผลงานโบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับภาพรวมของสังคมออกมาบ้างในส่วนนักศึกษาก็ยิ่งจะเป็นเรื่องน่าปลื้มปีติ

ขุนพลน้อย 26 ม.ค. 50

ความรู้เรื่องแหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน(ถ้ามีข้อมูลอัพเดทกรุณาท้วงติง)

แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน สำรวจและวิจัยโดย ดร.ดักสาส ดี แอนเดอร์สัน เป็นถ้ำหลังบริเวณโรงเรียน บ้านทับปริก อ.เมือง จ.กระบี่ หากจัดช่วงเวลาตามลักษณะเครื่องมือที่พบอยู่ในช่วง ยุคหินกลาง ( Mesolithic Period ) ครอบคลุมช่วงเวลาประมาณ 10, 000 ถึง 6,000 ปี มาแล้ว คือใกล้สิ้นสุดยุคน้ำแข็ง(ไพลโตซีน) อากาศเริ่มร้อนใกล้เคียงปัจจุบัน เครื่องมือหินที่พบลักษณะคล้ายขวานกำปั้น แต่ประณีต มีการกะเทาะให้มีความแหลมคม หลายด้านมากขึ้นกว่าเครื่องมือหินกระเทาะที่จัดเป็นยุคหินเก่า ขนาดเล็กเหมาะกับการใช้งานมากขึ้น ในเอเซียเรียกว่า แบบวัฒนธรรมฮัวบิเนียน‘ (พบครั้งแรกในเวียดนาม) ทำจากหินกรวดแม่น้ำ พบเกือบทุกภาคของประเทศไทย เช่น ถ้ำผี อ. เมือง จ.แม่ฮ่องสอน อ.เชียงคาน จ.เลย อ.ดอนตาล จ.มุดาหาร ถ้ำพระ ต. ไทรโยค อ.บ้านเก่า จ.กาญจนบุรี

 

ขากบทความของ เอิบเปรม วัชรางกูร หัวหน้ากลุ่มวิชาการโบราณคดีใต้น้ำ กรมศิลปากร เรื่อง โบราณคดีชายฝั่งทะเลอันดามันทำให้พอจะทราบได้ว่า แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน จังหวัดกระบี่ มีความสำคัญที่แสดงความต่อเนื่องของประวัติศาสตร์ช่วงก่อนจะมีการเดินทางเผยแผ่ศาสนามาจนยุคที่การค้าทางทะเลเจริญรุ่งเรือง จนดินแดนแถบนี้ก็กลายเป็นดินแดนชุมทางกึ่งกลางติดต่อกันระหว่างอารยธรรมจีนอินเดีย

 

เฉพาะในเขตจังหวัดกระบี่ นอกจากรายงานการวิจัยของ ดร.ดักลาส ดี แอนเดอร์สัน แล้วยังมีงานวิจัย ดร.สุรินทร์ ภู่ขจร ในแหล่งโบราณคดีถ้ำหมอเขียวซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเช่นกัน พบหลักฐานเป็นเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบเผาด้วยความร้อนต่ำกำหนดให้อยู่ในสมัยไพลสโตซีน มีอายุระหว่าง 27,000-37,000 ปีมาแล้ว หรือนอกบริเวณไปที่ อ.อ่าวลึกนี้ยังพบภาพเขียนสีบนผนังถ้ำผีหัวโต เป็นภาพมือคู่ ภาพคนถือปลา หมูป่า ปลา เขียนด้วยสีดำและน้ำตาล มีอายุประมาณ 3,000-5,000 ปี

 

เมื่อเข้าสู่ช่วงสมัยประวัติศาสตร์ เริ่มมีการติดต่อกับชุมชนต่างๆจากแดนไกล การเดินทางทางข้ามมหาสมุทรโดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาสมุทรอินเดีย เริ่มประมาณ พ..500 หรือประมาณ 2,000 ปี มาแล้ว ชาวอาหรับและอินเดียตอนใต้เดินเรือโดยใช้ลมมรสุมประจำฤดูข้ามมายังหมู่เกาะชวา เกาะสุมาตราและเมืองท่าต่างๆ บนคาบสมุทรมลายู สำหรับจังหวัดกระบี่ ร่องรอยการติดต่อที่เก่าแก่ที่สุดที่เป็นหลักฐานในช่วงนี้อยู่ที่ควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม พบหลักฐานที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมกรีก อาหรับ อินเดียและจีน เครื่องมือหิน เครื่องประดับทำด้วยดินเผา แก้ว และแร่รัตนชาติ กำหนดอายุได้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 5-12 ปัจจุบันโบราณวัตถุต่างๆ เก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์วัดคลองท่อม

 

 

ข้อมูลประกอบ:ชาวกระบี่ยื่นหนังสือผู้ว่าฯค้านระเบิดหินเขานาไฟไหม้

ผู้จัดการออนไลน์ 11 กันยายน 2549 .

สภาวัฒนธรรมกระบี่เดินหน้าค้านระเบิดหินบริเวณเทือกเขานาไฟไหม้ เตรียมเสนอผู้ว่าฯค้านระเบิดหิน หลังทางโบราณคดียืนยันพบวัตถุโบราณคดีอายุหลายพันปี

จากกรณีที่มีผู้นำชุมชนและชาวบ้าน ม.1, 2 และ ม.3 .ทับปริก อ.เมืองกระบี่ ร่วมลงชื่อกว่า 200 คน ร้องเรียนต่อ นายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ขอให้ยกเลิกสัมปทานระเบิดย่อยหิน ที่บริเวณเทือกเขานาไฟไหม้ เนื่องจากเป็นการทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นแหล่งต้นน้ำที่ไหลไปยังคลองน้ำแดง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบที่การประปาส่วนภูมิภาคจังหวัดกระบี่ และภายในถ้ำบริเวณเทือกเขา ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และเครื่องใช้ต่างๆ เป็นจำนวนมากคาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 5,000 ปี

ล่าสุด นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ที่ 15 จังหวัดภูเก็ต พร้อมเจ้าหน้าที่ นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกระบี่ พร้อมตัวแทนบริษัทที่ได้รับสัมปทานระเบิดย่อยหิน ผู้นำตัวแทนชาวบ้าน ได้เดินทางมาสำรวจภายในถ้ำ แต่เกิดฝนตกทำให้ไม่สามารถเข้าสำรวจได้ จากนั้นเข้าสำรวจที่เขาถ้ำหน้าวังหมี ภายในภูเขาที่ได้รับสัมปทานระเบิดย่อยหิน พื้นที่จำนวน 89 ไร่ ตั้งอยู่หมู่ 3 .ทับปริก อ.เมืองกระบี่

จากการสำรวจพบว่า ภายในภูเขาลูกดังกล่าวซึ่งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก มีโถงถ้ำขนาดใหญ่ กว้างประมาณ 4 เมตร ยาว 100 เมตร ประกอบด้วย ถ้ำเล็ก ใหญ่ นับสิบถ้ำ ภายในมีหินงอกหินย้อยสวยงาม ซึ่งบางส่วนได้ถูกทำลาย และที่บริเวณพื้นถ้ำได้มีการขุดมูลค้างคาวเพื่อนำไปทำปุ๋ยด้วย

นายอาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 15 จังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า จากการขุดสำรวจลึกประมาณ 60 เซนติเมตร พบเศษกระเบื้องของหม้อสามขาและเศษกระดูกจำนวนหนึ่ง มีอายุประมาณไม่ต่ำกว่า 2,000 ปี และหากขุดลึกไปกว่านี้ก็อาจพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์อื่นๆ อย่างแน่นอน ซึ่งเทือกเขาดังกล่าวเป็นเทือกเขาเดียวกับเทือกเขาที่ตั้งอยู่หลังโรงเรียนทับปริก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณและเครื่องใช้อื่นๆ อีกหลายรายการที่มีอายุไปต่ำกว่า 4 หมื่นปีด้วย

ด้าน นายนิวัฒน์ วัฒนยมนาพร กรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกระบี่ กล่าวว่า สาเหตุที่ได้คัดค้านการระเบิดย่อยหินที่บริเวณเทือกเขาไฟไหม้ เนื่องจากว่าบริเวณเทือกเขาแห่งนี้น่าจะเป็นชุมชนโบรานแห่งหนึ่งของจังหวัดกระบี่ นักโบราณคดีได้สันนิษฐานว่า เป็นเมืองบันไทยเสมอ ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งในอาณาจักรเมือง 12 นักษัตร ที่มีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกระบี่ บริเวณบ้านไสไทย หรือบ้านในสระ

อีกทั้งยังมีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณในถ้ำหลังโรงเรียนทับปริก โดย ดร.ดักลาส ดี แอนเดอร์สัน นักโบราณคดีชาวต่างชาติ แต่ยังไม่ได้มีการศึกษาวิจัยกันอย่างเป็นทางการเนื่องจากไม่มีงบประมาณ

หากภูเขาไฟไหม้ถูกทำลายโดยการระเบิดย่อยหินขายไปจนหมดสิ้น แหล่งต้นน้ำลำธารดังกล่าวจะต้องสูญเสียไป แหล่งมนุษย์โบราณ แหล่งประวัติศาสตร์และแหล่งพันธุ์พืชนานาชนิด มีอันต้องหายไปจากท้องถิ่นแห่งนี้ น่าเสียดายและน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่ทรัพยากรของแผ่นดินถูกทำลายไปโดยกลุ่มผลประโยชน์เพียงไม่กี่คน และจะนำข้อสรุปที่ได้ในการขุดค้นเบื้องต้นนี้ เสนอต่อนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชจังหวัดกระบี่ เพื่อให้ทบทวนการอนุญาตสัมปทานระเบิดย่อยหินที่บริเวณเทือกเขาดังกล่าว เพื่อเป็นการรักษาแหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดต่อไป

 

เมื่อผมจะขอเขียนรัฐธรรมนูญด้วยคน

คิดมานานว่าจะเขียนเปิดบล็อกด้วยเรื่องอะไรดี สมองไหลไปมาจิปาถะ ตั้งแต่จะเขียนให้เข้ากับชื่อที่ตั้งว่า ‘Archaeo 45 ‘ อันจากส่วนหนึ่งของคำว่า โบราณคดีโดยเขียนให้เป็นเรื่องโบราณคดีไปเลยดีหรือไม่ แต่ก็คิดต่อว่าจะเอาเรื่องราวโบราณคดีแบบไหนมาเขียน ด้านวิชาการสุดขั้วหรือจะแค่เกร็ดความรู้ หรือจะแบบเบาๆเป็นเกร็ดความรักตามวิถีชีวิตของชาวโบราณคดีอะไรทำนองนี้

 

คิดไปคิดมาก็ลงตัวที่ รัฐธรรมนูญนี่เอง เพราะเห็นว่ามันกำลังเป็นกระแสสุดฮิตไปทั่วทุกหัวระแหงในบ้านเมืองสยามเวลานี้ หลักๆก็ทำอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่ไม่หลักแว่วๆข่าวมาว่ามีไม่ต่ำกว่าสิบวง กำลังกุลีกุจอเขียนคู่ขนานอยู่

 

แล้ว รัฐธรรมนูญมันเกี่ยวกันตรงไหนกับ ‘Archaeo 45’ น่ะหรือ มันเกี่ยวก็ตรงที่เวลาคุยกับใครในวงการโบราณคดี ไม่ว่าจะครูบาอาจารย์ ลูกศิษย์ลูกหา แม้แต่เพื่อนฝูงในและนอกวงการ มันก็จะพูดว่า “ไม่ใช่เรื่องของโบราณคดี”

 

ในใจลึกๆมันเลยคิดา “แล้วมันเรื่องของใครกันวะ นักกฎหมายหรือ ชาวบ้านหรือ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือ ทักษิณ ชินวัตรหรือ ฟ้าประทานหรือ แล้วก็สารพัดหรือ สุดท้ายไม่พ้นต้องมาคิดกลับอีกทีว่า เฮ้ย ! มันเกี่ยวกับ ทุกคนไม่ใช่หรือ”

 

ความจริงแล้วทุกคนทุกวงการควรจะมีส่วนในการร่างไอ้รัฐธรรมนูญเจ้าปัญหานี่เสียด้วยซ้ำ มันจะยกให้ไอ้บักหำบักหงอกที่ไหนทำแต่เฉพาะเขาคงไม่ถูกเสียกระมัง เพราะไม่ว่ามองอย่างไรแล้วผู้ครอบครอง รัฐธรรมนูญมันก็เปรียบเหมือนเจ้ายุทธจักรผู้ครองครองยุทธภพในหนังจีนดีๆนี่เอง (นึกไม่ออกไปหา เดชคัมภีร์เทวดามาอ่านซะ) เนื่องจากรัฐธรรมนูญหมายถึงอำนาจและข้ออ้างสูงสุดที่จะมาเป็นพันธะผูกพันเราไปจนกว่าจะมีคนมาฉีกมันด้วยคุณธรรมอันสูงส่ง

 

ดังนั้นแม้แต่คนในวงการประวัติศาสตร์ โบราณคดีและมานุษยวิทยา ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องถูกมันตีกรอบและจำกัดสิทธิเอาไว้ส่วนหนึ่งโดยชอบธรรม เช่น ปัญหาหนึ่งที่ดูดีแต่แก้ไม่ตกในรัฐธรรม 2540 เรื่องการรองรับสิทธิชุมชนกับงานโบราณคดีไปด้วยกันได้หรือไม่

 

แน่นอนว่าสิทธิชุมชนนั้นเป็นเรื่องที่ควรสนับสนุนและรัฐธรรมนุญ 2540 ก็รองรับอย่างเต็มที่ แต่เมื่อมาพูดถึงการจัดการทางโบราณคดีกับสังคมนั้นยังมีบางอย่างที่ต้องการการคุยอย่างลงตัวและรัดกุมยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่ว่างานโบราณคดีโดยเบื้องต้นคือการบันทึกข้อมูลอย่างเที่ยงตรง เพราะความคลาดเคลื่อนของตำแหน่งที่พบหลักฐานเพียงแค่เรื่องการระบุทิศทาง ความลึกชั้นดิน สภาพแวดล้อมวัตถุ มันหมายถึงความหมายที่เปลี่ยนไปในการอธิบายเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นบนพื้นที่นั้นๆ(คล้ายงานนิติวิทยาศาสตร์ของหมอพรทิพย์ไง) อีกทั้งการจัดการทางโบราณคดีอย่างเป็นระบบยังมีความหมายถึงการบันทึกประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์สำหรับบุคคลรุ่นหลังใช้ประกอบกับหลักฐานที่ค้นพบได้ใหม่ทุกวินาที ข้อมูลที่มีการจัดการที่ดีจึงมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับการมองประวัติศาสตร์และอนาคต

 

แต่สิทธิชุมชนหมายถึงการที่ชุมชุนมีสิทธิในการจัดการพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้น ในเรื่องที่เป็นกระบวนการจัดการประวัติศาสตร์เฉพาะทางแบบงานโบราณคดีนี้กับสิทธิชุมชนอาจสวนทางกัน เพราะในขณะที่โบราณคดีต้องการบันทึกและอนุรักษ์ความรู้ทางประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ชุมชนอาจจะต้องการจัดการแหล่งโบราณคดีเป็นอีกแบบหนึ่งก็ได้ เช่น ทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือยิ่งไปกว่านั้น ผู้มีอิทธิพลในบางชุมชนเห็นประโยชน์จากแหล่งทรัพยากร เช่น ระเบิดเขาทำเหมือง แต่เขาลูกนั้นเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่ต้องมีการสำรวจ ขุดค้น เก็บข้อมูล แต่สุดท้ายด้วยอิทธิพลเหนือชุมชุนบางอย่าง (เช่นผู้มีอิทธิพลข่มขู่หรือเล่นเส้นผ่าน อบต.ผู้นำชุมชนให้อนุมัติโครงการระเบิดเหมือง บวกกับการให้ใต้โต๊ะกรมศิลปากรโดยบอกว่าไม่ใช่แหล่งโบราณคดีสำคัญและเก็บข้อมูลแล้ว) การระเบิดเขาลูกนั้นก็จะตามมา ดังนั้น สิทธิชุมชนกับงานโบราณคดีอาจจะต้องมีการพูดคุยที่มากขึ้นเพื่อระบุลักษณะเฉพาะบางอย่างลงไป เพราะการที่ชุมชนมีสิทธิอนุมัติอะไรง่ายๆในขณะที่ผู้ใหญ่บางคนในกรมศิลปากรทำตัวคล้ายพล..สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่รับเงินเดือนราชการทั้งชีวิต แต่ส่งลูกไปเรียนอกได้สบายๆมีรถเบนส์คันโตๆขับโดยไม่ได้มีกิจการอะไรพิเศษ(อาจเป็นสมบัติบรรพบุรุษมั๊ง) พวกนี้กลับมีอำนาจจัดการงานโบราณคดีเป็นสิทธิขาดยิ่งกว่าความเห็นนักวิชาการโบราณคดีที่นำข้อมูลมายืนยัน

 

กระบวนการแบบนี้จึงอาจเป็นการทำลายมิติทางประวัติศาสตร์ไปอย่างน่าเสียดาย แน่นอนการให้เหตุผลแบบนี้ไม่ได้หมายถึงชาวบ้านไม่ควรมีสิทธิ หรือดูถูกว่าไม่มีทางมีความรู้ในการจัดการพื้นที่ของตนเอง แต่มันหมายถึงสิทธินี้ควรจะต้องมีการพูดคุยและหาทางออกอย่างลงตัวแบบใด

 

อย่างนี้แล้ววงการโบราณคดีจะบอกว่ารัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของกูคงไม่ได้ อีกทั้งหลายครั้งหลายคราประวัติศาตร์นอกจากถูกทำลายแล้วยังกลายเป็นเรื่องไม่สำคัญในประเทศนี้ เพราะความคิด ไม่ใช่เรื่องของกูนี่เอง

 

ความไม่ใช่เรื่องของกูของชาววงการโบราณคดีนี้เองหลายครั้งทำให้ประวัติศาสตร์ถูกเอาไปอ้างจนกลายเป็นอำนาจเฉพาะของใครบางคนบางกลุ่มเอาไว้ข่มเหงคนอื่นไป ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญมาตราแรกของแทบทุกฉบับที่ใช้ในประเทศนี้จะปรากฏคำว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้” วิธีเขียนแบบนี้เองที่โครตจะเป็นปัญหาที่ต้องตีความกันวุ่นวาย

 

ทำไมน่ะหรือเพราะด้วยประวัติศาสตร์แบบรัฐชาติตัวเดียวอันเดียวที่สอนในชั้นเรียนเด็กเอ๋ยเด็กดีทุกวันนี้ ได้สร้างมายาคติให้ความยิ่งใหญ่จากส่วนกลางมากเสียจนไม่สามารถจะคิดยอมรับประวัติศาสตร์อื่นๆได้อีก

 

เรียกได้ว่า อะไรที่หนังสือแบบเรียนประวัติศาสตร์บอกว่าบรรพบุรุษกูเก่ง เคยตีเมืองได้ที่ไหนมันของกูหมด กูมีสิทธิทุกอย่างจนปัจจุบันนี้ เรื่องนี้นักโบราณคดี นักประวัติศาสตร์ไม่คิดจะตั้งข้อกังขาให้สังคมเลยหรือว่ามันจริงรึเปล่า ในเมื่อทุกวันนี้คนใน 3 จังหวัดภาคใต้พยามบอกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าเขามีความแตกต่างที่อาจจะต้องการการออกแบบพิเศษในการปกครอง พูดง่ายๆก็คือ ขอกระจายอำนาจ พูดให้ยากขึ้นคือ เขตปกครองพิเศษแล้ววิธีคิดนี้มันมาจากอะไร แน่นอนว่าส่วนหนึ่งที่ถูกยกมาอธิบายก็คือเรื่องประวัติศาสตร์ เป็นอย่างไรนั้นไปถามอาจารย์ด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีกันเอาเอง

 

แต่เอาเป็นว่าหลายครั้งที่ความโคตรคลั่งชาติเหล่านี้สั่งสมมาจากแบบเรียนที่ใช้สอนอย่างน้อยๆก็ตั้งแต่จอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งเอาความรู้จากสำนักคิดดำรงราชานุภาพมาใช้ให้เป็นประโยชน์เข้าตัว โดยที่นักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี นักสังคมวิทยา นักมานุษยวิทยา หรือสารพัดนักรู้ว่ามัน มีปัญหาแต่ไม่ได้เคยนำความรู้ หลักฐานที่มีไปคัดคานอะไรกับกระทรวงศึกษาที่ไม่ค่อยได้ศึกษาธิการอะไรเลย ก็เลยทำให้มติมหาชนยังเห็นว่าประเทศไทยมันแบ่งแยกไม่ได้ตลอดเวลา(เกิดมาก็เห็นแผนที่ประเทศไทยเป็นแบบปัจจุบันแล้ว ) จนกลายเป็น มาตรา 1 ในรัฐธรรมนูญและถูกอ้างซ้ำไปมาทั้งอย่างเป็นและไม่เป็นทางการเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้ แบบนี้เองทำให้การออกแบบรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่เฉพาะอย่าง 3 จังหวัดภาคใต้จึงยังไม่เคยถูกพูดกันอย่างจริงจังสักครั้งเพราะกลัวกระทบกับมายาคติที่สังคมไทยส่วนใหญ่ถูกทำให้เชื่อตามมาตรา 1 ไปแล้ว และเชื่อได้ว่ามาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างก็จะยังเป็นเช่นนี้อยู่ (แต่พื้นที่ เช่น พัทยา หรือ กรุงเทพฯกลับปกครองพิเศษได้โดยไม่มีใครรู้สึกแย้งด้วยมาตรา 1 ซักที หุหุหุ)

 

เกริ่นเสียยาว ทีนี้ขอเข้าเรื่องรัฐธรรมนูญที่ผมออกแบบบ้าง เพราะไหนๆเขาก็ฉีกแล้วโดยกำลังฮิตร่างไปทั่วเลยอยากขอนำเสนอบ้างให้เข้ากับกระแสช่วงนี้

 

รัฐธรรมนูญที่เสนอนี้พูดตรงๆว่าไร้สาระสุดๆ แต่จะเป็นไรไป ในเมื่อรัฐธรรมนูญที่มีสาระอย่างมากก็มีอายุ 15 ปี หรือที่มีสาระและกำลังเขียนกันเป็นสิบๆกลุ่มตอนนี้ ค่ามันก็เท่ากับรัฐธรรมนูญอันไร้สาระของผมนี้เอง เพราะรู้ๆกันอยู่ว่าความจริงในใจของผู้ช่วงชิงอำนาจก็คือการหาข้ออ้างสูงสุดมารองรับอำนาจ ใครจะมารับข้อเสนอคนอื่นมาทอนอำนาจตัวเอง

 

ตังฮึงปุกก่ายมีคัมภีร์ทานตะวัน งักปุ๊กคุ้งและ ลิ้มเพ้งจือมีคัมภีร์ปราบมารไว้รองรับอำนาจจนใครๆก็กลัวฉันท์ใด ผู้อยู่เบื้องหลังรัฐประหารที่ไม่รู้ว่าสะบั้นเครื่องเพศฝึกวิชาไปแล้วหรือไม่ก็ต้องการมีคัมภีร์เทวดาไว้รองรับอำนาจฉันท์นั้น ดังนั้นเขียนให้มีสาระไปก็เท่านั้น(แต่เตรียมไว้ก็ดีเพราะเดี๋ยวฉบับนี้ก็อาจโดนโละจะได้เผื่อไว้ใช้อีก 15 ปี)

 

อย่างไรก็ตาม ในระยะหนึ่ง เดช รัฐธรรมนูญเทวดาที่มีสาระ(เลว) นี้จะถูกชื่นชอบเพราะได้ชื่อว่าเป็นแบบไทยๆที่ได้รสชาติคุณธรรมมากที่สุดตามความต้องการของคนไทยจำนวนมากที่กำลังผอมเกร็ง หัวใจโร สมองปอด ด้วยโรคขาดสารคุณธรรมกันมาอย่างน้อยก็ 5 ปี

 

ผมก็เลยปิ๊งไอเดียว่า ในเมื่อขาดสารคุณธรรมกันขนาดหนักจนต้องเอาคนชอบเดินป่าห่มเหลืองออกบวชมีศีลธรรมแต่เคยลืมตัวสั่งทหารไปกระทืบประชาชนเมื่อพฤษภาคม 2535 มาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ทำไมไม่เอา พระไตรปิฎก 84,000 พระธรรมขันธ์เป็นรัฐธรรมนูญมันเสียเลย คุณธรรมมันจะได้ซาบซ่านเข้าถึงเลือดเนื้อจิตใจและวิญญาณในทุกขณะจิตหายใจเข้าออก ยิ่งเคารพทำตามรัฐธรรมนูญไตรปิฎกมากก็ใกล้นิพพานมากไปอีกขั้น โอวววว้ ซี๊ด คิดแล้วใจปีติ มีวิมุติสุขยิ่ง

 

แน่นอนครับเดี๋ยวจะหาว่าไม่เคารพความต่างในศาสนาอื่น มีคำพูดว่าทุกศาสนาสอนให้คนเป็นคนดี ดังนั้นสำหรับศาสนาอื่นก็ให้หลักศาสนานั้นๆเป็นธรรมนูญอิสระของแต่ละศาสนาไปเลย ใครนับถือศาสนาอะไรก็ให้ข้อห้ามศาสนานั้นบังคับ แหะๆ ผู้มีอำนาจตีความผิดถูกอย่างศาสนาพุทธก็ใช้มหาเถระสมาคมไปแล้วกันเอามาแทนศาลรัฐธรรมนูญไปเลยก็ดี ส่วนใครไม่นับถือศาสนาก็ยึดหลักประชาธิปไตยว่า คุณมีสิทธิของคุณเต็มที่ตราบใดที่คุณไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น ถ้าไปละเมิดศาสนาใดเข้า ก็ไปรับโทษเอาเองไปตามศาสนานั้น

 

อ่อเพื่อป้องกันการทะเลาะระหว่างศาสนา เสนอว่าหากทะเลาะข้ามศาสากันเมื่อไหร่ให้ตั้งอนุญาโตตุลาการระหว่างศาสนาไปเลยดีไหม? ให้ศาสนาที่ 3 มาเป็นคนกลางตัดสิน

 

หึๆๆ ถ้าจะว่าผมเพี้ยนก็แสดงว่าคุณไม่นับถือศาสนานะครับ หรือถ้านับถือแล้วแสดงว่าศรัทธาไม่พอ อย่างนี้เรียกได้ว่า คุณธรรมไม่ถึงขั้น ไปถามท่านสุรยุทธ์ขอบวชวัดเดียวกับท่านเสียจะได้ใกล้ศาสนา ดูเป็นคน ดีขึ้น ในสังคมคุณธรรมแบบตอนนี้ รัฐธรรมนูญแบบนี้ก็สาแก่ใจดี

 

ส่วนเรื่องธุรกิจการค้าก็คงไม่ต้องห่วงอะไรมาก ในเมื่อรัฐบาลตอนนี้ก็ไม่ได้ห่วงอะไรอยู่แล้ว อยากทะเลาะกับสิงคโปร์เพราะคนๆเดียวก็ทำ กลัวทุนต่างชาติจนขี้หดก็ออกกฎให้ตลาดหุ้นมันเจ๊งซะแสดงว่าธรรมภิบาลเหลือเฟืออยู่แล้ว แบบนี้พร้อมที่จะรับธรรมะจากศาสนาเต็มที่ เพราะหากจะทำการค้าด้วยหลักการพุทธก็ต้องไม่ยึดติด ทุกอย่างเป็นอนัตตา เงินทองของนอกกาย อยากเอาอะไรก็บริจาคต่างชาติเป็น ทานบารมีร่วมกันทั้งชาติไม่ต้องเสียเวลาทำบุญประเทศทุกปี ทำทานสละเมืองทั้งเมืองแบบพระเวสสันดร ชาติหน้าจะได้เสวยชาติเป็นพระพุทธเจ้ากันถ้วนทั่ว ไม่ต้องรอพระศรีอาริยเมตรัยมาโปรดสัตว์ เราก็พร้อมนิพพานกันทั้งประเทศ

 

รัฐธรรมนูญของผมไม่ดีตรงไหนกับสังคมคุณธรรม ว่างๆรัฐบาลคุณธรรมช่วยตอบทีแล้วกัน

 

ขุนพลน้อย

24 มกราคม 2550

โบราณคดี

โบราณคดี (Archaeology) คือ วิชาที่ว่าด้วย การศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์ โดยผ่านทางการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดี ที่ได้มาจากการขุดค้น (โบราณวัตถุ) การขุดแต่ง (โบราณสถาน) และการศึกษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ประเภทต่างๆ (ศิลาจารึก จดหมายเหตุ พงศาวดาร) โดยทั่วไป จะต้องใช้ศาสตร์ด้านอื่นๆ ประกอบด้วยเพื่อให้เรื่องราวในอดีตของมนุษย์ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ศาสตร์เหล่านั้น เช่น ประวัติศาสตร์ศิลปะ ธรณีวิทยา สัตววิทยา พฤกษศาสตร์ เรณูวิทยา การกำหนดอายุทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

อ้างอิง: th.wikipedia.org/wiki/โบราณคดี